http://www.consumerprotection.or.th
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 สิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภค  เกี่ยวกับสมาคม  ผลการดำเนินงาน  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อออนไลน์
การใช้ยาอย่างสมเหตุผล
สาระน่ารู้เกี่ยวกับผู้บริโภค
ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ด้านบริการทางการแพทย์
ด้านอสังหาริมทรัพย์
ด้านอื่น ๆ
บทความ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง




 

ส.ส. ชื่นชมการทำงานสภาผู้บริโภค แต่ต้องไม่ใช่เสือกระดาษ มุ่งแก้ไขต้นตอปัญหาที่นโยบายรัฐ

ส.ส. ชื่นชมการทำงานสภาผู้บริโภค แต่ต้องไม่ใช่เสือกระดาษ มุ่งแก้ไขต้นตอปัญหาที่นโยบายรัฐ

สภาผู้บริโภค ชี้แจงผลงานช่วยเหลือผู้บริโภคทั่วไทย ปีงบประมาณ 2565 ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เดินหน้าผลักดันหน่วยงานประจำจังหวัดให้ครบทั้ง 77 จังหวัด ชี้จะเป็นกลไกสำคัญคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้มแข็งขึ้น ระบุ ที่ผ่านมายังพบข้อจำกัดการผลักดันข้อเสนอนโยบายค่อนข้างมาก ในอนาคตพร้อมร่วมมือกับ ส.ส. ทุกพรรคผลักดันนโยบายคุ้มครองผู้บริโภค ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

วันที่ 16 สิงหาคม 2566 บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค และ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ได้เข้าชี้แจงผลงานคุ้มครองผู้บริโภคในปีงบประมาณ 2565 ของสภาผู้บริโภคต่อสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส) ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 7 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) 

โดยบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค ระบุว่า ปัจจุบันสภาผู้บริโภคมีองค์กรสมาชิกอยู่ใน 41 จังหวัดทั่วประเทศ และมีความตั้งใจที่จะขยายฐานการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม การหาสมาชิกองค์กรผู้บริโภคในหลายจังหวัดนั้นมีข้อจำกัด คือ องค์กรที่จะมาเป็นสมาชิกสภาผู้บริโภคได้ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภค โดยมีสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ผู้รับรอง ซึ่งการขึ้นทะเบียนองค์กรนั้นมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ทำให้มีหลายองค์กรที่ขึ้นทะเบียนแต่ไม่ผ่าน ทั้งนี้ แม้จะมีขั้นตอนและกระบวนการขึ้นทะเบียนที่ต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียดแต่ก็ยังเกิดกรณีที่มีองค์กรผู้บริโภคถูกฟ้องว่าเป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้น ไม่มีตัวตนจริง หรือที่เรียกว่าองค์กรทิพย์ แต่เมื่อตรวจสอบแล้วก็เป็นองค์กรที่มีตัวตนจริง ทั้งนี้ การจะมีหน่วยงานประจำจังหวัดหมายความว่าต้องมีองค์กรสมาชิกในจังหวัดอย่างน้อย 5 องค์กร ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับรองโดย สปน. ซึ่งก็เป็นโจทย์สำคัญของการมีหน่วยงานประจำจังหวัด อย่างไรก็ตามสภาผู้บริโภคมีเป้าหมายและความตั้งใจที่จะผลักดันให้เกิดหน่วยงานประจำจังหวัดให้ครบทั้ง 77 ทั่วประเทศไทย

ส่วนคำถามที่ว่าสภาผู้บริโภคแตกต่างกับองค์กรภาครัฐที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร ต้องอธิบายว่า สภาผู้บริโภคเป็น “องค์กรในฝัน” ของผู้บริโภค ที่รับเรื่องร้องเรียนและดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคจนจบในที่เดียว โดยไม่ต้องติดต่อหลายหน่วยงาน ที่มีชื่อว่าศูนย์รับเรื่องร้องเรียนแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop Service)

ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า สภาผู้บริโภคเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือขององค์กรผู้บริโภค และตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 จนกระทั่งถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ซึ่งปัจจุบันก็เข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว ทั้งนี้ จากครั้งก่อนที่มีโอกาสมารายงานผลการดำเนินงานในสภาผู้แทนราษฎรและได้รับคำแนะนำกลับไป สภาผู้บริโภคได้นำคำแนะนำดังกล่าวไปปฏิบัติทุกรายการ

อย่างไรก็ตาม จากการทำงานในแง่ของการเสนอแนะนโยบายพบว่าสภาผู้บริโภคยังมีข้อจำกัดในเรื่องการผลักดันข้อเสนอนโยบายต่อหน่วยงานรัฐค่อนข้างมาก แต่ในปีนี้สภาผู้บริโภคมีแนวทางที่จะทำงานกับทุกพรรคการเมือง โดยมองว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเช่นเดียวกันกับสิ่งที่สภาผู้บริโภคทำ ยกตัวอย่างข้อเสนอนโยบายที่สภาผู้บริโภคขับเคลื่อน เช่น กรณีรถรับส่งนักเรียนที่ขณะนี้มีต้นแบบของโรงเรียนที่ทำงานเรื่องรถรับส่งนักเรียน แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจในการกระจายการปฏิบัติงานเพื่อเกิดต้นแบบของรถรับส่งนักเรียน 

หรือประเด็นเรื่องบริการขนส่งมวลชนที่อยากให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะได้ในระยะ 500 เมตรจากบ้าน รวมไปถึงการได้ใช้บริการขนส่งมวลชนในราคาที่เหมาะสมคือไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้คนที่อยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจะสามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้ ซึ่งเรื่องขนส่งมวลชนนั้นเป็นประเด็นที่หลายพรรคการเมืองผลักดันเรื่องนี้อยู่พอสมควร ทั้งเรื่องตั๋วร่วม ค่าโดยสารร่วม อีกทั้งขณะนี้มีพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … ซึ่งสภาผู้บริโภควางแผนไว้ว่าจะทำงานกับทุกพรรคการเมืองในการผลักดันให้เกิดตั๋วร่วมโดยสารที่ครอบคลุมทุกบริการ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการผลักดันให้มีการปรับปรุงนโยบายว่าฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ นโยบายเรื่องการควบคุมการใส่กัญชาในอาหาร และอื่น ๆ

ในปี 2565 สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 14,941 เรื่อง จัดการสำเร็จเสร็จสิ้นทั้งหมดร้อยละ 91 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าการเยียวยาความเสียหายถึง 286 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สารีเชื่อว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคมีมูลค่ามากมายมหาศาลกว่านี้ เช่น เรื่องการฉ้อโกงออนไลน์ล่าสุดในปี 65 ประเทศไทยมีตัวเลขความเสียหายจากปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 50,000 ล้านบาท โดยปัญหาที่พบมากที่สุดคือเรื่องการหลอกลงทุนออนไลน์ และปัญหาซื้อของไม่ได้ของ ของไม่ตรงปก สำหรับการแก้ไขในเรื่องดังกล่าว ขณะนี้สภาผู้บริโภคได้ทำความร่วมมือกับอย่างน้อย 10 หน่วยงาน เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธปท. สมาคมธนาคาร สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตำรวจเศรษฐกิจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อรวมกันหาทางออกของปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคอยากสร้างความร่วมมือกับทุกพรรคการเมืองในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งปีนี้สภาองค์กรผู้บริโภคเรามีกฎหมายอย่างน้อย 6 ฉบับที่อยากปรับปรุงและผลักดัน หนึ่ง คือการปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค สอง คือกฎหมายว่าด้วยความรับผิดต่อสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง หรือเลม่อนลอว์ (Lemon Law) สาม พ.ร.บ. อากาศสะอาด สี่ พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … ห้า พ.ร.บ กัญชา และหก กฎหมายเรื่องบำนาญประชาชน

สภาผู้บริโภคมีงานอยู่ 4 งาน 1) งานให้การช่วยเหลือผู้บริโภคซึ่งสภาผู้บริโภคพยายามที่จะลดความซ้ำซ้อนกับ สคบ. โดยที่มีคณะทำงานร่วมมือกัน ทั้งในการฟ้องคดี สนับสนุนการทำงานกันมากขึ้น แต่เรื่องการทำงานเชิงรุกก็อาจจะยังทำได้ค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตาม หวังว่าการทำงานเชิงรุกในแง่ข้อเสนอนโยบายจะได้รับการสนับสนุนจากท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น 2) งานสนับสนุนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2567 สภาผู้บริโภคจะมีองค์กรสมาชิกอยู่ใน 60 จังหวัด จากปี 66 ที่มี 41 จังหวัด 3) งานเสนอแนะนโยบาย อย่างที่ได้ทำเสนอไปข้างต้น และ 4) งานสื่อสารสาธารณะที่จะดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไป

สำหรับประเด็นที่ต้องการการสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎร คือประเด็นเรื่องงบประมาณ สภาผู้บริโภคเริ่มทำงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยได้ทุนประเดิม 350 ล้านบาท และทุนประเดิมนั้น ครม. มีมติให้สภาผู้บริโภคขอรับงบประมาณในปี 2565 แต่ความจริงในปี 2565 สภาไม่ได้รับงบประมาณเลย เนื่องจากมีข้อจำกัดในการแปรญัตติเรื่องงบประมาณ ส่วนในปี 2566 สภาได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 153 ล้านบาท และปี 2567 ยังไม่ทราบงบประมาณอย่างเป็นทางการ ทราบเพียงว่างบประมาณของสภาผู้บริโภคอยู่ในบัญชีงบประมาณ แต่ขณะนี้ทุกหน่วยงานสามารถใช้งบไปพลางก่อนขณะที่สภาผู้บริโภคเราไม่มีงบพลาง เพราะฉะนั้นก็หวังว่าท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะสนับสนุนโดยที่สภาจะของบประมาณจากคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นงบที่จะขอใช้ไปพังก่อนในปี 2567 ทั้งนี้ หวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากท่านสมาชิกทุกท่าน


ทั้งนี้ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากพรรคต่าง ๆ จำนวน 14 คนร่วมอภิปรายผลการดำเนินงานของสภาผู้บริโภคจากเอกสารรายงานประจำปี 2565 โดยภาพรวมของการอภิปราย ได้มีการสะท้อนผลงานการคุ้นมครองผู้บริโภค ทั้งเสียงชื่นชม เสียงวิจารณ์และข้อแนะนำ ในการทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ซึ่งข้อแนะนำต่างๆ สรุปได้ ดังต่อไปนี้

เริ่มจาก ร่มธรรม ขรรมนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวชื่นชมการทำงานของสภาผู้บริโภคที่ได้ทำงานอย่างเข้มแข็งในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งการให้ความรู้ การเตือนภัย การรับเรื่องร้องและช่วยแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภค รวมถึงการทำข้อเสนอแนะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุมประเด็นปัญหาผู้บริโภค

ทั้งนี้ ร่มธรรม ได้ฝากข้อเสนอแนะกับสภาผู้บริโภค จำนวน 3 ประเด็น ดังนี้ 1. ขอสนับสนุนให้มีการปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของไทย คือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ให้กำหนดสิทธิผู้บริโภคให้มีความเท่าเทียมกับสิทธิผู้บริโภคสากลและให้เท่าทันกับปัญหาผู้บริโภคที่เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน ตัวอย่างเช่น สิทธิที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย สิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะ 2. สนับสนุนสภาผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันสิทธิผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์และการหลอกลวงทางออนไลน์ การจัดการแพลทฟอร์มออนไลน์และการควบคุมผู้ขายสินค้าออนไลน์ให้มีมาตรฐาน การแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการส่งข้อความเอสเอ็มเอสหลอกลวง ผลักดันระบบขนส่งสาธารณะให้มีการคิดค่าบริการที่เป็นธรรมโดยคำนึงถึงค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้ รวมถึงการผลักดันระบบตั๋วร่วมหรือตั๋วใบเดียวที่ใช้ได้กับขนส่งสาธารณะที่หลากหลาย พลังงานและค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม เป็นต้น

นอกจากนี้เสนอแนะให้คณะรัฐมนตรีสนับสนุนงบประมาณการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นระบบ สม่ำเสมอทุกปี เพื่อความต่อเนื่องในการทำงานและเพื่อความเป็นอิสระในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน รวมทั้งขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาและรับฟังข้อเสนอแนะและให้ความร่วมมือกับสภาผู้บริโภค


ด้าน ฐากร ตันฐสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ได้กล่าวชื่นชมการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของสภาผู้บริโภค แต่ทั้งนี้มีข้อสังเกตถึงอำนาจหน้าที่ของสภาผู้บริโภคที่สามารถเสนอแนะนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคถึงคณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นรับข้อเสนอแนะของสภาผู้บริโภคไปแล้วได้ดำเนินการตามความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ หรือตอบมายังสภาผู้บริโภคหรือไม่ และหากหน่วยงานไม่ดำเนินการตามข้อเสนอ สภาผู้บริโภคมีแนวทางจะดำเนินการอย่างไรต่อไปเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือเอสเอ็มเอสหลอกลวง หรือปัญหาค่าไฟฟ้าแพงที่สภาผู้บริโภคส่งข้อเสนอถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยังพบว่าหน่วยงานยังไม่มีการนำไปพิจารณาดำเนินการและทำให้ผู้บริโภคยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ฐากร เห็นว่าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือคณะรัฐมนตรีไม่นำข้อเสนอของสภาผู้บริโภคไปพิจารณา สภาผู้บริโภคจะต้องหาแนวทางการปรับปรุงหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีอำนาจ และหน่วยงานรัฐต่าง ๆ พิจารณาและดำเนินการตามข้อเสนอให้ประสบความสำเร็จและเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งคาดว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของสภาผู้บริโภค และมองว่าการคุ้มครองผู้บริโภคของสภาผู้บริโภคเป็นผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของประเทศไทยอย่างหนึ่ง


 ขณะที่ รัฐ คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดมหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ระบุว่า สภาผู้บริโภคมีการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคเชิงรุก ทั้งการเสนอแนะนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคถึงคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานรัฐ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ และเตือนภัยผู้บริโภค อีกทั้งเฝ้าระวัง ท้วงติงในประเด็นที่มีแนวโน้มว่าผู้บริโภคจะถูกลิดรอนสิทธิผู้บริโภค ขณะที่ในเชิงรับมีการรับเรื่องร้องเรียนและช่วยแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภค ทั้งนี้เห็นว่าการทำงานของสภาผู้บริโภคนั้นครอบคลุมทุกด้านตั้งแต่ผู้บริโภคตื่นจนหลับ 

ทั้งนี้ ประเด็นผู้บริโภคที่กำลังเป็นปัญหาในขณะนี้คือการปรับเงื่อนไขการรับเบี้ยผู้สูงอายุ ที่จะต้องมีการพิสูจน์ตัวตนว่ามีความยากจนหรือมีรายได้ไม่เพียงพอจริงหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา สภาผู้บริโภคได้มีการผลักดันและส่งข้อเสนอถึงคณะรัฐมนตรีเพื่อทำให้มีการผลักดันนโยบายบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท ที่ให้กับทุกคนโดยไม่แบ่งแยกชนชั้น ในอัตราที่เหมาะสมโดยอ้างอิงจากเส้นความยากจนที่สภาพัฒน์ฯ กำหนดขึ้นมา ทั้งนี้ รัฐ ชื่นชมและสนับสนุนข้อเสนอของสภาผู้บริโภค และฝากให้รัฐบาลรักษาการณ์และผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ปรับแก้ให้เป็นเงื่อนไขเดิมคือทุกคนต้องได้รับเงินเบี้ยผู้สูงอายุ โดยไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน

นอกจากนี้ขอชื่นชมประเด็นที่สภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้บริโภคไปกว่าร้อยละ 91 ของผู้บริโภคที่เข้ามาร้องเรียน แต่ตั้งข้อสังเกตถึงการร้องเรียนในด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ที่มีประเด็นความสำเร็จต่ำกว่าด้านอื่น ๆ คือช่วยเหลือไปได้เพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องการให้สภาผู้บริโภคชี้แจงถึงเหตุผลที่ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือได้เท่ากับปัญหาผู้บริโภคด้านอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม รัฐเห็นว่าการทำงานของสภาผู้บริโภคเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างแท้จริง จึงอยากฝากให้สภาผู้บริโภคเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ ขยายองค์กรให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งจังหวัด อำเภอ ตำบล ผู้ที่ไม่ได้ใช้ช่องทางออนไลน์หรือผู้ด้อยโอกาส เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมได้มากยิ่งขึ้นและเพื่อให้ทุกคนได้ทราบถึงช่องทางในการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคของตัวเอง


ส่วน ภัณฑิล น่วมเจิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ระบุว่า ขอชื่นชมการทำงานของสภาผู้บริโภคที่ช่วยดูแล รับเรื่องร้องเรียน และช่วยแก้ไขปัญหาผู้บริโภคในหลายมิติที่ครอบคลุมประเด็นปัญหาผู้บริโภคถึง 8 ด้าน โดยมีทั้งการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เอกชน และการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเสนอให้ปรับเกณฑ์สิทธิการรักษาตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (สิทธิยูเซ็ป : UCEP) ให้ครอบคลุมมากขึ้น การช่วยเหลือนักลงทุนรายย่อย การเสนอให้มีการทบทวนการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผังเมืองเพิ่มเสียงประชาชนจากทุกภาคส่วนมากขึ้น การเสนอให้ร้านค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาต้องติดป้ายแสดงว่าเป็นอาหารที่มีส่วนผสมเหล่านี้เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูล มีทางเลือกในการตัดสินใจ เป็นต้น แต่ทั้งนี้มีความห่วงกังวลเกี่ยวกับงบประมาณที่ให้กับสภาผู้บริโภค ที่ต้องฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จัดสรรงบประมาณให้มีความเพียงพอและต่อเนื่องเพื่อให้ดำเนินการตามภารกิจในการคุ้มครองผู้บริโภค

ด้าน ภูริวรรธก์ ใจสำราญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร จากพรรคก้าวไกล ระบุว่า เมื่อช่วงที่ผ่านมาได้ประสานงานช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประเด็นการถูกหลอกขายคอร์สทำทรีตเมนท์ใบหน้า และพบว่าสภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้บริโภคในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ยังพบว่ายังมีผู้บริโภคที่พบปัญหาลักษณะนี้ซ้ำอีก อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคถูกจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 โดยมีเจตนารมย์ให้ดำเนินการอย่างเป็นอิสระเพื่อประชาชน ดังนั้น ประชาชนจึงมีความคาดหวังว่าองค์กรและบุคลากรต่าง ๆ ที่ดำรงตำแหน่งในสภาผู้บริโภคจะทำงานอย่างโปร่งใส และเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง


ทั้งนี้ ภูริวรรธก์ ได้วิเคราะห์ถึงเรื่องร้องเรียนที่สภาผู้บริโภคช่วยแก้ไขปัญหาจนยุติเสร็จสิ้นว่ามักจะจบลงด้วยการเจรจาและไกล่เกลี่ย ทำให้พบว่าการยุติปัญหาด้วยกระบวนการข้างต้นทำให้ยังมีผู้บริโภคได้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการหรือได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้าและบริการ อาจแสดงให้เห็นว่ายังไม่สามารถหยุดผู้กระทำผิดได้และปัญหาไม่ถูกแก้ที่ต้นตอ หรือในอีกมุมหนึ่งคือการทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเยียวยาในมูลค่าที่มากนัก อย่างไรก็ตามเห็นว่าสภาผู้บริโภคเป็นช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนอันดับต้น ๆ ของผู้บริโภค รวมถึงการให้ข้อมูล ข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค และให้ข้อเสนอแนะนโยบายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งอาจทำให้มองได้ว่าสภาผู้บริโภคเป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับ สคบ. และจะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค

นอกจากนี้ ภูริวรรธก์ขอให้มีการชี้แจงเพิ่มเติมในการให้เงินสนับสนุนสมาชิกของสภาผู้บริโภค เนื่องจากสมาชิกหลาย ๆ องค์กรของสภาผู้บริโภคถูกตรวจสอบว่ามีการจัดตั้งขึ้นถูกต้องหรือไม่ รวมถึงหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกโครงการจัดจ้างที่ปรึกษาด้านการสื่อสารนั้นมีการจัดจ้างอย่างไร อีกประเด็นคือการใช้เงินสดหรือรายจ่ายทรัพย์สินไม่มีตัวตนถึง 9.6 ล้านบาท ในการใช้สร้างเว็บไซต์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยมีความคิดเห็นว่าราคากลางในการพัฒนาระบบอาจไม่สูงเท่าที่แจ้งไว้ ส่วนผลลัพธ์จากการใช้งบประมาณเกี่ยวกับสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคที่สภาผู้บริโภคนำเสนอนั้นเห็นว่าไม่สอดคล้องกับงบประมาณในการลงทุนและอาจต้องพิจารณางบส่วนนี้เพิ่มเติม ทั้งนี้มีความคาดหวังให้สภาผู้บริโภคเป็นที่พึ่งของประชาชนและในขณะเดียวกันขอให้ช่วยตรวจสอบองค์กรหรือเจ้าหน้าที่ที่ไม่ปฏิบัติหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้ดำเนินการด้วยความโปร่งใสหรือไม่


ขณะที่ ทินพล ศรีธเรศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ระบุว่า ปัจจุบันพบว่าปัญหาที่สภาผู้บริโภคดำเนินการส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่ปลายเหตุ การช่วยแก้ไขปัญหาผู้บริโภคไปได้กว่าร้อยละ 91 เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทำให้ปัญหาผู้บริโภคในปัจจุบันนั้นมีให้เห็นอยู่จำนวนมาก เช่น การซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ที่พบปัญหาซื้อของและได้ไม่ตรงตามที่สั่ง สั่งซื้อของแต่ไม่ได้รับของ เหล่านี้เชื่อว่าผู้บริโภคหลายรายไม่ร้องเรียนเพราะเป็นเงินจำนวนเพียงน้อยนิดและมองว่าการร้องเรียนไปแล้วไม่คุ้มค่ากับที่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมหรือไม่ทราบว่าต้องร้องเรียนที่หน่วยงานใด ดังนั้น จึงต้องการเห็นการทำงานเชิงรุกของสภาผู้บริโภคที่เข้มข้นขึ้น มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง นอกเหนือจากการรับเรื่องร้องเรียนเพียงอย่างเดียว เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


ส่วน ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เห็นว่าสภาผู้บริโภคควรมีการสรุปบทเรียนหรือถอดบทเรียนที่ดำเนินการเพื่อแก้ไขเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคหรือการยุติเรื่องร้องเรียน และขอให้มีการวิเคราะห์ว่าอัตราเรื่องร้องเรียนนั้นมีผู้บริโภคที่เข้ามาร้องเรียนซ้ำอีกหรือไม่ ซึ่งหากสามารถสรุปบทเรียนออกมาได้จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการที่สภาผู้บริโภคระบุว่าต้องการให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ให้มีความเท่าเทียมนั้นจะมีการปรับแก้ไขอย่างไรบ้างหรืออยากเห็นการปรับแก้ในส่วนใดบ้าง อีกทั้งขอให้มีการชี้แจงเกี่ยวกับงบประมาณในการสนับสนุนของภาครัฐที่ต้องสนับสนุนให้กับสภาผู้บริโภคที่ 5 บาทต่ประชากร 1 คน อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่าการรายงานของสภาผู้บริโภคนั้นไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณปี 2565 2566 และ 2567 ซึ่งอาจเกิดจากการที่รัฐไม่สนับสนุนงบประมาณในปีข้างต้นหรือไม่ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการกระจายตัวของสภาผู้บริโภคในแต่ละจังหวัดยังมีไม่ครอบคลุมทั่วไทย เพื่อปกป้องและคุ้มครองผู้บริโภคได้ทั่วถึงมากขึ้น ทั้งนี้ ณัฐวุฒิ ระบุอีกว่าข้อเสนอของสภาผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องเรื่องรถรับส่งนักเรียนนั้นเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและพร้อมสนับสนุนในประเด็นดังกล่าว ซึ่งคาดว่าหากผลักดันข้อเสนอให้รถนักเรียนปลอดภัยได้จะสามารถช่วยให้การเดินทางของเด็กนักเรียนที่เดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนกว่า 85,000 คน ปลอดภัย มีมาตรฐานและมีคุณภาพขึ้นได้


ขณะที่ เฉลิมชัย กุลาเลิศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ให้ความเห็นเรื่องการประชาสัมพันธ์ของเฟสบุ๊กแฟนเพจสภาผู้บริโภคที่เน้นไปเรื่องปัญหาที่ประชาชนถือเป็นเรื่องดี แต่ขาดการสร้างความรับรู้ให้แก่ประชาชนและควรเน้นหนักไปที่การทำให้สภาผู้บริโภคเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อลดความสับสนระหว่างสภาผู้บริโภคและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และได้สอบถามเพิ่มเติมใน 3 ประเด็น คือ 1. เรื่องเงินสนับสนุนเครือข่ายสนับสนุนสมาชิก ใช้เกณฑ์อะไรในการสนับสนุนองค์กรสมาชิก 2. งบประมาณโครงการประชาสัมพันธ์สำหรับจ้างที่ปรึกษานั้นใช้งบประมาณมากเกินไปหรือไม่ ต้องการให้อธิบายเพิ่มเติมสำหรับงบประมาณในส่วนนี้ และที่ปรึกษาที่ว่าจ้างนั้นมีหน้าที่อะไรบ้าง และ 3. งบประมาณที่ขอเพิ่มเติม มีแผนอย่างไรที่จะใช้ให้เต็มจำนวน


ส่วน จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงประเด็นข้อเสนอของสภาผู้บริโภคต่อหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ ข้อเสนอถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คือการเสนอให้ กสทช. ไม่อนุญาตให้ควบรวมธุรกิจระหว่างทรูดีแทค ข้อเสนอถึงกระทรวงพลังงานให้กำกับราคาน้ำมันที่เป็นธรรม จัดเก็บภาษีลาภลอย ยุติการอนุมัติซื้อไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบ เพื่อลดราคาค่าครองชีพ และยังมีข้อเสนอถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีมาตรการกำกับห้ามใช้กัญชาในอาหาร และยังมีข้อเสนออื่น ๆ ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 พ.ร.บ. อากาศสะอาด ซึ่งทุกข้อเสนอเป็นประเด็นที่สำคัญแต่เห็นว่าสภาผู้บริโภคไม่สามารถทำได้สำเร็จ เปรียบเสมือนเสือกระดาษที่ไม่มีอำนาจบังคับ ขณะที่ พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ไม่ได้ให้อำนาจไว้ มีแต่การเสนอแนะข้อเสนอถึงหน่วยงานเท่านั้น แต่ทั้งนี้พบว่าหน่วยงานรัฐไม่รับฟังหรือไม่นำข้อเสนอของสภาผู้บริโภคไปพิจารณา ดังนั้นจึงเห็นว่ามีความจำเป็นและต้องหาแนวทางอุดช่องโหว่ ซึ่งไม่เพียงสภาผู้บริโภคแต่รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อีกทั้งเสนอให้สภาผู้บริโภคมีความพร้อมในการรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับปัญหาที่เกิดกับผู้บริโภค


เกียรติคุณ ต้นยาง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงรายงานประจำปี 2565 พบการแสดงผลสถิติการรับเรื่องร้องเรียนข้อมูลไม่ตรงกันระหว่างข้อมูลที่เล่มรายงานประจำปี 2565 และข้อมูลที่แสดงบนเว็บไซต์สภาผู้บริโภค ทั้งนี้ต้องการการขยายความสถานะยุติของเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ว่ามีประเด็นอะไรบ้างจึงถือว่ายุติเรื่องร้องเรียน พร้อมเสนอเรื่องการรับสมัครทนายความของสภาผู้บริโภค โดยเสนอให้ทำข้อตกลงร่วม (MOU) ร่วมกับสภาทนายความแทนการเปิดรับสมัครทนายความ


ด้าน อดิศร เพียงเกษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ชมเชยสภาผู้บริโภคในประเด็นข้อมูลในรายงานประจำปี และได้ชี้แจงถึงประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ทำไมน้ำมันกับก๊าซหุงต้มถึงมีราคาแพง โดยอดิศรระบุว่า เนื่องจากมาตรการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำมันและก๊าซหุงต้มในประเทศไทยไม่ได้ใช้ต้นทุนราคาที่แท้จริงบวกกำไร แต่เป็นการอ้างอิงตลาดน้ำมันสำเร็จรูปจากประเทศสิงคโปร์ บวกค่าขนส่งน้ำมันจากประเทศสิงคโปร์มาประเทศไทย และค่าบริการอื่น ๆ ทั้งที่จริง ๆ ไม่มีการขนส่งจริง จึงส่งผลให้ราคาน้ำมันไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ดังนั้นจึงต้องการให้สภาผู้บริโภคผลักดันให้ราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้ามีราคาที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป


ขณะที่ เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกล ระบุว่า ขอชื่นชมสภาผู้บริโภคที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันสภาพเศรฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น แต่มีสภาผู้บริโภคเคียงข้างประชาชน ขณะที่ผลงานที่โดดเด่น คือ ผลักดันไม่ให้รัฐบาลลงนามในข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) และผลักดันบำนาญประชาชน รวมถึงการคัดค้านการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูและดีแทค

อีกทั้งโครงสร้างของสภาองค์กรของผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 เน้นจัดตั้งองค์กร ไม่ได้เน้นการมีส่วนร่วมและการสร้างความเข้มแข็ง โดยดั้งเดิมสภาผู้บริโภคเกิดจากการรวมตัวกันของผู้บริโภคเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค แต่มาตรา 6 องค์กรของผู้บริโภคที่ประสงค์จะเข้าร่วมต้องแจ้งขึ้นทะเบียนต่อนายทะเบียนประจำจังหวัด เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขและความยากลำบากในการจัดตั้ง ขณะที่จำนวนหน่วยงานประจำจังหวัดมี 15 หน่วย (ข้อมูล 13 มิถุนายน 2566) ยังมีอยู่อย่างไม่ครอบคลุมเมื่อเทียบกับปัญหาและข้อเรียกร้องของผู้บริโภคทั้งประเทศ หรือคิดเป็นร้อยละ 18 เท่านั้น

นอกจากนี้ มีข้อคิดเห็นและเห็นควรอย่างยิ่งให้มีการเร่งจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคประจำจังหวัดหรือหน่วยงานประจำจังหวัด นอกจากนี้ควรตั้งไปสู่อำเภอ ตำบลด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ควรมีการจัดตั้งเครือข่ายอาสาสมัครเพื่อพร้อมขยายแนวคิดและความตระหนักต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทันกลโกงและความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ดังนั้น ในเรื่องของการประชาสัมพันธ์จึงมีความสำคัญ แต่ทั้งนี้เมื่อพิจารณางบประมาณในการทำโครงการต่าง ๆ จะพบว่าโครงการประชาสัมพันธ์ใหญ่ ๆ ต่าง ๆ จะเป็นระดับออนไลน์ทั้งหมด อาทิ การทำเว็บไซต์ การจัดจ้างอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) หรือการจัดเสวนานั้นควรมีการประเมินความคุ้มค่าและมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากยอดผู้ติดตาม ทั้งไลน์ออฟฟิเชียลและเฟสบุ๊กแฟนเพจเห็นว่ายังมีผู้ติดตามจำนวนน้อย ดังนั้นควรมีการสร้างเครือข่ายหรืออาสาสมัครในแต่ละพื้นที่ให้มากขึ้น


ด้าน นนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนนทบุรี พรรคก้าวไกล ระบุว่า ถือเป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภคมาชี้แจงรายงานประจำปี 2565 ด้วยตนเอง ซึ่งพบว่า งบภายในองค์กรกว่า 350 ล้านบาท ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักนายกรัฐมนตรีกับการรับเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคที่ผ่านองค์กร เกือบ 15,000 เรื่อง โดยเกือบครึ่งของทั้งหมดเป็นเรื่องการเงินและการธนาคาร คาดว่าจะเป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องสินไหมทดแทนบริษัทประกันภัยในช่วงโควิดที่ผ่านมา ดังนั้น ขอเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนที่ได้ผลกระทบขอขอบคุณที่สภาผู้บริโภคได้ให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภค ทั้งที่ได้เงินชดเชยหรือกำลังรอรับเงินชดเชย และยังเชื่อว่ายังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาชดเชยจากการทำประกันช่วงโควิดที่ผ่านมาอีกมาก จึงขอฝากให้สภาผู้บริโภคช่วยติดตามและแก้ไขปัญหาให้ประชาชน

อย่างไรก็ตาม นนท์ได้อภิปรายถึงพันธกิจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคทุกคนทุกด้าน ยังต้องมีมาตรการช่วยเหลือคนกลุ่มหนึ่งที่บางกรณีอาจจะยังไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่างเช่นกรณีการทำสัญญาเช่าร้านค้า ซึ่งถือเป็นการใช้บริการอย่างหนึ่ง บางพื้นที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมแลกเข้า ค่าเช่าล่วงหน้า และเงินค้ำประกัน รวมกันแล้วมากกว่า 4 – 6 เดือน/สัญญา และสัญญาบางฉบับมีการแจ้งว่า หากมีการออกก่อนครบกำหนด ระยะเวลาเช่า 6 เดือน ถึง 1 ปี จะมีการยึดเงินประกันค่าเช่าทั้งหมด คนที่เช่าพื้นที่แล้วออกก่อนกำหนดหรือเลิกกิจการก่อนกำหนด คือธุรกิจที่ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ บางคนหอบเงินก้อนสุดท้ายของชีวิต

จะเห็นได้ว่าจากรายงานการฆ่าตัวตายพบว่าร้อยละ 22.6 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยเมื่อไตรมาส 1 ปี 2564 มีกิจการที่ปิดไปกว่า 20,000 ราย มาจากผลกระทบของการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่รักษาการ หากองค์กรของผู้บริโภคเห็นปัญหาที่ได้นำเรียนตามพันธกิจในเรื่องของการพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคทุกคนทุกด้าน หากมีมาตรการปกป้องสิทธิ ทวงถามให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ที่ได้รับผลกระทบ สภาผู้บริโภคสามารถอาจทำเป็นนโยบายหรือมาตรการเพื่อนำเสนอไปที่คณะรัฐมนตรี ทั้งนี้สมาชิกพรรคก้าวไกลทุกคน พร้อมร่วมเดินทางกับสภาผู้บริโภคในการผลักดันนโยบายต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค


ปิดท้ายที่ อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ชื่นชมสภาผู้บริโภคกับวาระและพันธกิจที่ได้คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการดูแลผู้บริโภคในประเทศไทย แต่เห็นว่ายังขาดมาตรการอื่น ๆ ที่ยังไม่ครอบคลุมในส่วนของการเตรียมการในการรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในรายงานระบุว่าสภาผู้บริโภคทำงานใน 2 มิติ ทั้งในเชิงรุกและในเชิงรับ แต่หากประเมินผลปฏิบัติการจะเห็นแต่ในเชิงรับมากกว่าเชิงรุก จึงตั้งข้อสังเกต 8 ประการ ดังนี้

1. มีการตั้งคำถามจากภาคประชาสังคมว่าจริง ๆ แล้วสภาผู้บริโภคเป็นเสือกระดาษจริงหรือไม่? ข้อสังเกตข้อท้วงติง คำแนะนำ ข้อเสนอแนะที่ส่งไปที่หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชนอื่น ๆ มีการรับไปปฏิบัติมากน้อยเพียงใด? และจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อให้สภาผู้บริโภคนั้นจะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเสือกระดาษอีกต่อไป

2. สภาผู้บริโภคนั้นต้องไม่กระทำตนหรือปฏิบัติตนเป็นเหยื่อ หมายความว่าต้องไม่เป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมชะตากรรมว่าไปร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วไม่มีความคืบหน้า หรือการร้องเรียนอะไรแล้วไม่มีผลสัมฤทธิ์ในการร้องเรียนซึ่งไม่ต่างจากผู้บริโภคทั่วไปที่ได้รับผลกระทบ

3. มาตรฐานการดำเนินการของสภาผู้บริโภคมีมาตรฐานที่เป็นสากลหรือเป็นมาตรฐานเฉพาะในประเทศหรือไม่ และสภาผู้บริโภคได้เตรียมการรองรับหรือสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มากน้อยเพียงใด หรืออย่างไร?

4. เทคโนโลยีก้าวไกล สภาผู้บริโภคไทยต้องก้าวทัน ปัจจุบันมีผู้ตกเป็นเหยื่อหรือได้รับผลกระทบปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือได้รับผลกระทบจากการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลหรือปัญหาแก็งคอลเซ็นเตอร์โทรเข้ามาหลอกลวง สภาผู้บริโภคมีมาตรการดูแลเรื่องนี้อย่างไร? และหากมีการล่วงละเมิดหรือใช้ความรุนแรงผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย สภาผู้บริโภคมีมาตรการและดูแลเรื่องนี้อย่างไร? 

5. ปัญหาเรื่องค่าพลังงานแพง ค่าแรงถูก วันนี้ค่าไฟ ค่าก๊าซขึ้นราคา เพื่อไทยพูดหลายครั้งถึงประเด็นโครงสร้างพลังงานของประเทศไทยไม่โปร่งใส ไม่สามารถตรวจสอบได้ จะดูเรื่องนี้ได้อย่างไร เพราะการตรวจสอบของประชาชนในฐานะของผู้บริโภคนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก

6. ปัญหาการควบรวมกิจการโทรคมนาคมและทำให้การแข่งขันด้านโทรคมนาคมลดลง เมื่อบริษัทใหญ่มาควบรวมกันอาจทำให้ชั่วโมงอินเทอร์เน็ตหรือปัญหาอินเทอร์เน็ตล่ม สภาผู้บริโภคจะมีการเข้ามาดูแลเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างไร

7. สภาผู้บริโภคมีมาตรการรณรงค์หรือส่งเสริมให้คนไทยมีสวัสดิภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร เช่น พ.ร.บ. อากาศสะอาด ที่พรรคเพื่อไทยได้นำเสนอเป็นนโยบาย

8. สภาผู้บริโภคได้ดูแลหรือมีมาตรการควบคุมสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในทุกมิติ ทุกบริบทอย่างไร เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้โหด ทั้งธนาคารที่อยู่ภายใต้กำกับ หรือผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non – bank)

https://www.tcc.or.th/190823_tccnews_consumerprotection-report/?fbclid=IwAR0zB1Jlk_yiT-e9n-oslLuAnTzRcYqPkaTvY2tkREN5gh0In_bkGMSFCjI

Tags :

 
Menu
หน้าแรก
เครือข่ายผู้บริโภค
ศูนย์ราชการสะดวก
สื่อวิทยุสมาคม
ข่าวสาร
สรุปกิจกรรม 2566
สรุปกิจกรรม 2565
สรุปกิจกรรม 2564
สรุปกิจกรรม 2563
สรุปกิจกรรม 2561
สรุปกิจกรรม 2560
สรุปกิจกรรม 2559
สรุปกิจกรรม 2558
สรุปกิจกรรม 2557
สรุปกิจกรรม 2556
สรุปกิจกรรม 2555
สรุปกิจกรรม 2554
สรุปกิจกรรม 2553
สรุปกิจกรรม 2562
การร้องเรียน
ติดต่อเรา
แผนผังเว็บไซต์
สถิติเรื่องร้องเรียน
สมัครสมาชิก
เว็บบอร์ด
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 09/12/2010
ปรับปรุง 07/05/2024
สถิติผู้เข้าชม1,753,493
Page Views2,018,741
« May 2024»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
view