http://www.consumerprotection.or.th
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 สิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภค  เกี่ยวกับสมาคม  ผลการดำเนินงาน  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อออนไลน์
การใช้ยาอย่างสมเหตุผล
สาระน่ารู้เกี่ยวกับผู้บริโภค
ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ด้านบริการทางการแพทย์
ด้านอสังหาริมทรัพย์
ด้านอื่น ๆ
บทความ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง




 

สารพิษอาบแผ่นดิน! นักวิจัยชี้ พิษจากสารเคมีปราบศัตรูพืชส่งตรงจากแม่ถึงลูกน้อยได้จริง

สารพิษอาบแผ่นดิน! นักวิจัยชี้ พิษจากสารเคมีปราบศัตรูพืชส่งตรงจากแม่ถึงลูกน้อยได้จริง

มีคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า บัดนี้แผ่นดินไทยได้ถูกอาบไปด้วยสารพิษ โดยเฉพาะจากการที่เราใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชมายาวนาน โดยไม่ได้ฉุกคิดถึงผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดตามมา แต่นี่ไม่ใช่การกล่าวโทษเกษตรกร เพราะที่สุดแล้วจากผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภค เราต่างสมรู้ร่วมคิดทั้งทางตรงและทางอ้อมจนพฤติกรรมเหล่านี้สะสมเนิ่นนาน ในขณะเดียวกันกับที่สารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ กระทั่งอากาศ ก็มีอยู่จริง จนผู้คนในทุกระดับเริ่มได้รับผลจากการกระทำนั้น ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งศึกษาวิจัยเรื่องผลกระทบจากสารเคมีปราบศัตรูพืชตกค้าง โดยเฉพาะกับแม่และทารก มากกว่า 10 ปี กล่าวอ้างจากบทความเชิงวิชาการในหลายชิ้นว่า “ไม่มีใครบนผืนแผ่นดินนี้รอดพ้นจากสารพิษ” จากเกษตรกรถึงผู้คนในสังคมเมือง เราต่างวนเวียนอยู่ใน ‘ห่วงโซ่ชีวิต’ เดียวกัน

ในวันที่หลายประเทศทั่วโลกร่วมกันผลักดันแนวนโยบายเพื่อ ‘แบน’ การนำเข้าและใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชในภาคการเกษตร โดยเฉพาะสารชื่อคุ้นหูที่หลายคนในสังคมเริ่มได้ยินชื่อเสียงเรียงนามบ่อยครั้งขึ้นในช่วงหลังอย่าง พาราควอต ไกลโฟเซต และ คลอร์ไพริฟอส ประเทศไทยเองก็กำลังเดินหน้าแก้ปัญหานี้ร่วมกันอย่างจริงจัง โดยภาคประชาชน นักวิชาการ และการดำเนินงานของ คณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งนับได้ว่าจะเป็นความหวังใหม่ของผืนแผ่นดินไทย คนไทย และอนาคตของชาติ เนื่องจากการศึกษาอย่างจริงจังของนักวิชาการทั้งในประเทศไทย และระดับสากล ได้พบผลการศึกษาที่น่าสะพรึงกลัวจากการที่สิ่งแวดล้อมปนเปื้อนด้วยสารตกค้างเหล่านี้ ว่าส่งผลร้ายต่อสุขภาพในระยะยาวของผู้คนในทุกพื้นที่

ผลวิจัยหนึ่งจากกรมวิชาการเกษตร เกี่ยวกับการปนเปื้อนของสารปราบศัตรูพืชในสิ่งแวดล้อม โดยวิเคราะห์สารปราบศัตรูพืชในดินที่บ้าน ดินที่แปลงเกษตร น้ำที่แปลงเกษตร น้ำดื่ม ฝุ่นในบ้าน และฝุ่นที่มือเด็ก จากตัวอย่างในจังหวัดนครสวรรค์ พิษณุโลก และยโสธร พบว่าสารเหล่านี้ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้จากหลายกรณี ตั้งแต่การฉีดสารปราบศัตรูพืชในแปลงเกษตรโดยตรง การฉีดสารปราบศัตรูพืชใกล้บ้าน จนถึงการเก็บสารเคมีเหล่านั้นไว้ภายในบ้าน ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังยังได้กล่าวถึงผลกระทบจากสารพิษตกค้างเหล่านี้ว่า ‘ไม่มีใครสามารถรอดพ้นจากพิษภัยของมันได้’ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราล้วนได้รับผลกระทบในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และวันหนึ่งระดับที่ปลอดภัยอาจไม่ได้มีอยู่จริง

“ข้อมูลจาก Children Health’s Defense กล่าวไว้อย่างมีนัยสำคัญว่า ไม่มีระดับที่ปลอดภัยของสารไกลโฟเซตตกค้างในอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะต่อเด็กเล็ก ยกตัวอย่างเด็กในช่วงวัยที่กำลังหัดเดิน ซึ่งมีตับและไตที่ยังทำงานไม่เต็มที่ พบเลยว่าไม่สามารถกำจัดสารพิษตกค้างเหล่านี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายได้ นอกจากนี้ American Academy of Pediatrics ซึ่งทำงานด้านกุมารเวชศาสตร์ยังระบุว่า การได้รับสารปราบศัตรูพืชในตัวอ่อนและเด็กเล็กมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งในเด็ก ลดความฉลาดทางสติปัญญา และเด็กยังมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป การศึกษายังพบอีกว่าไกโฟเสทที่ได้รับจะสะสมในไขกระดูกที่ทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือด เอ็น และกล้ามเนื้อไปเรื่อยๆ ในเด็ก จึงไม่มีใครบอกได้เลยว่า การได้รับสารเหล่านี้ในระดับที่ต่ำ จะไม่อันตราย การสะสมไปอย่างต่อเนื่องจะทำให้ระดับสูงขึ้นในช่วงเวลาที่เราคาดไม่ถึงได้ และการทดลองในห้องปฏิบัติการโดยให้หนูรับไกลโฟเซตในระดับต่ำมากๆ ต่อเนื่องกันไปเป็นเวลานาน พบว่าสามารถทำให้หนูเป็นโรคตับ นอกจากนี้การได้รับไกลโฟเซตในระดับต่ำมากๆ ต่อเนื่องยังรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ มีผลต่อฮอร์โมนคอร์ติซอล และไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งอาจส่งผลให้ทารกเกิดมาผิดปกติ คลอดก่อนกำหนด เป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง เป็นมะเร็ง โรคจิตและโรคเรื้อรังอีกด้วย”

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ต้องแปลกใจที่หลายประเทศตระหนักถึงการคุกคามของภัยเงียบนี้ จนกระทั่ง ‘แบน’ สารปราบศัตรูพืชหลายชนิดรวมถึงไกลโฟเซต และบทความทางวิชาการซึ่ง ศ.ดร.พรพิมล กล่าวถึงยังระบุด้วยว่า มอนซานโต้ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เคมีปราบศัตรูพืช ยังถูกศาลแห่งนครซานฟรานซิสโกตัดสินให้มีความผิดที่ไม่แจ้งข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์ไกลโฟเซตเป็นสารที่ทำให้เกิดมะเร็ง จะเห็นได้ว่าในประเทศชั้นนำแล้ว แม้ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจะมีความสำคัญเพียงใด แต่สุขภาพ และสุขอนามัยของคนในชาติก็ย่อมมีความสำคัญในอันดับต้นเสมอ โดยเฉพาะในทารก เด็ก และเยาวชน ซึ่งจะกลายมาเป็นกำลังของชาติและโลกใบนี้ ที่จำต้องอาศัยผู้ใหญ่ในวันนี้เป็นปากเป็นเสียงแทน


การศึกษาเรื่องผลร้ายที่แฝงฝังอยู่ผ่านสารปราบศัตรูพืชเหล่านี้ได้รับการพูดถึงมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งหลายฝ่ายตระหนักและหลายประเทศประกาศแบนสารเคมีเหล่านี้ ศ.ดร. พรพิมล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (Unicef) ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนโลก ยังรณรงค์ถึงผลกระทบเหล่านี้มาอย่างมุ่งมั่น โดยที่ผ่านมา Unicef ได้เผยแพร่ข้อมูลที่น่าตกใจด้วยว่า ตัวอ่อนของทารกมีโอกาสได้รับสารพิษต่างๆ จากเลือดของแม่ หรือพลาเซนต้า ในขณะที่ตั้งครรภ์ ทารกมีโอกาสเสี่ยงจะเสียชีวิตในครรภ์ จนถึงเพิ่มความเสี่ยงของการคลอดออกมาแล้วเสียชีวิต จนถึงผิดปกติ นอกจากนี้ในช่วง 0-4 ปี สารพิษเหล่านี้ยังเข้าไปรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ อันเป็นช่วงสำคัญของร่างกายในการพัฒนาอวัยวะต่างๆ ของเด็กทารก จึงเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบเลือด เพิ่มโอกาสให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดได้ จนถึงเนื้องอกในสมอง กระทั่งอายุได้ 5-14 ปี ก็มีผลต่อพัฒนาการที่ช้า ทั้งการเคลื่อนไหว ความร่วมมือกันของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย รวมถึงความจำ

ข้อมูลจาก Unicef ระบุถึงความเสี่ยงและโอกาสในการได้รับสารเคมีปราบศัตรูพืช

ทราบหรือไม่ เด็กไทยกำลังตกอยู่ในอันตราย

สำหรับการศึกษาเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสารเคมีปราบศัตรูพืชที่ตกค้างทั้งในสิ่งแวดล้อม และอาหาร จนปะปนเข้าสู่ร่างกายนั้น สิ่งที่น่าหวั่นใจที่สุดอย่างหนึ่ง คือ การได้พบว่าสารเคมีเหล่านี้มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อการเกิดโรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน ในผู้ใหญ่ ซึ่งค้นพบจากการศึกษวิจัยอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มเกษตรกรที่ใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช ในพื้นที่ตัวอย่างที่ทำการศึกษา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ว่าน่าตกใจแล้ว การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหญิงตั้งครรภ์ ทารก และเด็ก ยังน่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่า ศ.ดร. พรพิมล กล่าวว่าไม่มีข้อยกเว้นว่าจะเป็น หรือไม่เป็นสมาชิกในครอบครัวเกษตรกร เพราะต่อให้เป็นชุมชนอื่นๆ หรือแม้แต่หญิงตั้งครรภ์ และทารกในสังคมเมือง ก็มีความเสี่ยงไม่แตกต่างกัน จากการศึกษาเรื่อง การได้รับสารกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงในหญิงตั้งครรภ์และทารก ในชุมชนเกษตรกร จากหญิงตั้งครรภ์อาสาสมัคร จำนวน 102 คน อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ (โดยสัมภาษณ์ เก็บปัสสาวะ เมื่อคลอด มีการเก็บเลือดและปัสสาวะมารดา เก็บเลือดสายสะดือทารก เก็บอุจจาระแรกของทารก หรือขี้เทา) จนถึงอายุ 2 เดือนหลังคลอด (เก็บปัสสาวะมารดา เก็บน้ำนมมารดา) และตรวจพัฒนาการทารก 5 เดือนด้วย ‘Baley’

“สำหรับพ่อแม่ที่ไม่ใช่เกษตรกรก็ให้ผลไม่ต่างกัน อย่างสารพาราควอตที่พบในขี้เทาของทารกที่แม่เป็นเกษตรกรและที่ไม่ใช่เกษตรกร ก็ให้ผลไม่ต่างกัน นอกจากนี้ยังพบอีกด้วยว่าการตรวจพบสารออร์แกโนฟอสเฟตในขี้เทาทารก โดยพบว่าในกลุ่มเกษตรกรกับที่ไม่ใช่เกษตรกร ไม่ต่างกัน นั่นแปลว่าไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ไหนๆ ก็มีโอกาสได้รับสารพิษเหล่านี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งได้เสมอ ทั้งในอากาศ ในน้ำ จนถึงในดิน หรือกระทั่งการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ที่ส่งตรงจากแหล่งผลิตในพื้นที่เกษตรจนถึงมือผู้บริโภคแทบทุกแห่งทั่วประเทศและทั่วโลก สำหรับข้อมูลเรื่องอันตรายนั้น เราพบว่าข้อมูลในเด็กชัดมาก เนื่องจากการได้รับสารเหล่านี้จะเป็นอันตรายต่อเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ถึง 10 เท่า จากการที่อวัยวะของเด็กยังไม่เจริญเติบโตและกำจัดสารพิษไม่ได้”

เด็กเล็กและทารกในครรภ์จึงนับได้ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงอย่างแท้จริง ซึ่งผลจากการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้ผลว่าการได้รับสารปราบศัตรูพืชอย่างต่อเนื่องมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคต่างๆ ในเด็กด้วย “ผลจากการศึกษาเราพบสารพิษตกค้างในเลือดของทั้งแม่และลูกและในน้ำนมแม่ เรามีข้อกังวลว่า สมองของตัวอ่อนทารกที่ได้รับพาราควอตอาจทำให้เกิดอันตรายแบบเรื้อรังในเด็กทารก และส่งผลไปตลอดชีวิต สารออร์แกโนฟอสเฟตที่แม่ได้รับขณะตั้งครรภ์ สารเหล่านี้มีผลต่อกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว และความฉลาดทางสติปัญญา มีผลต่อความจำ และการเรียนรู้ของทารก ทุกวันนี้ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเหล่านี้ชัดเจนมาก และตรงกันกับการศึกษาทั่วโลก สำหรับประเทศไทยแล้ว จากการที่เด็กเราได้รับสารในทุกช่วงวัย ทั้งจากสิ่งแวดล้อมและการปนเปื้อนในอาหาร การได้รับสัมผัสสารปราบศัตรูพืชมีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งในเด็ก ทั้งมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย จนถึงโรคเนื้องอกในสมอง แต่ที่ผ่านมาเรากลับพูดถึงเรื่องนี้กันน้อยมาก ทั้งที่เรากำลังตายกันแบบผ่อนส่ง ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนต้องลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง และลูกหลานของเรา”

ศ.ดร.พรพิมล กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “การกระจายข่าวสารที่เป็นประโยชน์นับเป็นหนึ่งในวิธีสร้างการตระหนักรู้ที่ดีรูปแบบหนึ่ง การที่ประชาชนได้เห็นถึงพิษภัยที่อันตรายไม่ใช่เพียงต่อตัวเอง แต่หมายถึงลูกหลาน น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อให้ผืนดินทุกผืนห่างไกลสารพิษ ในขณะเดียวกันก็คืนความบริสุทธิ์ให้กับหยดน้ำ อากาศที่เราหายใจ และสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ร่วมกันทุกเมื่อเชื่อวัน ต่อให้วันนี้ทุกอณูของโลกจะปนเปื้อนไปด้วยสารพิษ ถ้าเราไม่เริ่มวันนี้ บางทีลูกหลานในวันหน้าอาจเจ็บปวดมากกว่าเรา”

https://www.thairath.co.th/news/local/1674450

Tags :

 
Menu
หน้าแรก
เครือข่ายผู้บริโภค
ศูนย์ราชการสะดวก
สื่อวิทยุสมาคม
ข่าวสาร
สรุปกิจกรรม 2566
สรุปกิจกรรม 2565
สรุปกิจกรรม 2564
สรุปกิจกรรม 2563
สรุปกิจกรรม 2561
สรุปกิจกรรม 2560
สรุปกิจกรรม 2559
สรุปกิจกรรม 2558
สรุปกิจกรรม 2557
สรุปกิจกรรม 2556
สรุปกิจกรรม 2555
สรุปกิจกรรม 2554
สรุปกิจกรรม 2553
สรุปกิจกรรม 2562
การร้องเรียน
ติดต่อเรา
แผนผังเว็บไซต์
สถิติเรื่องร้องเรียน
สมัครสมาชิก
เว็บบอร์ด
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 09/12/2010
ปรับปรุง 24/04/2024
สถิติผู้เข้าชม1,744,082
Page Views2,009,252
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
view