http://www.consumerprotection.or.th
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 สิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภค  เกี่ยวกับสมาคม  ผลการดำเนินงาน  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อออนไลน์
การใช้ยาอย่างสมเหตุผล
สาระน่ารู้เกี่ยวกับผู้บริโภค
ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ด้านบริการทางการแพทย์
ด้านอสังหาริมทรัพย์
ด้านอื่น ๆ
บทความ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง




 

ไขมันทรานส์ คืออะไร ? ทำความเข้าใจไขมันที่กำลังจะถูกแบน

ไขมันทรานส์ คืออะไร ? ทำความเข้าใจไขมันที่กำลังจะถูกแบน

ภายในเดือน ม.ค. 2562 กรดไขมันทรานส์ หรือที่รู้จักในชื่อ ทรานส์แฟท (Trans Fat) จะถูกห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายในประเทศไทย

ประกาศห้ามไขมันทรานส์ ของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน นั้นเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ไขมันทรานส์ คืออะไร

กรดไขมันทรานส์ผสมอยู่ในเบเกอรี่ หรือ โดนัท ที่มีวางขายทั่วไปที่ใช้ เนยขาว เนยเทียม ครีมเทียม หรือมาการีน และเมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะเพิ่มระดับไขมันเลว (LDL) และลดไขมันดี (SDL) ในเส้นเลือด ซึ่งนำไปสู่โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ รวมถึงโรคเบาหวานอีกด้วย

กรดไขมันทรานส์ ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อช่วงปลายศตวรรษที่ผ่านมา โดยการเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลของน้ำมันพืช เพื่อทำให้น้ำมันพืชสามารถคงสภาพแข็งตัวหรือกึ่งแข็งกึ่งเหลว และมีอายุเก็บไว้ได้นานกว่าเดิม

ถึงแม้มันจะช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารลดต้นทุนในการผลิต และเคยถูกมองว่าเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าไขมันธรรมชาติ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้ยืนยันแล้วว่ามันเป็นภัยต่อสุขภาพ

แผนกำจัดไขมันทรานส์ให้หมดไปของ WHO

เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก ประกาศแผนเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกห้ามการใช้ไขมันทรานส์ ซึ่งพบว่ามีความเชื่อมโยงต่ออัตราการเสียชีวิตก่อนวัยแล้วหลายล้านราย

ผลเสียจากไขมันทรานส์ มีให้เห็นในหลายประเทศ เช่น ในอินเดีย และปากีสถาน ที่ร้านอาหารนิยมใช้ น้ำมันเนยใส (vanaspati) ซึ่งทำจากน้ำมันปาล์ม น่าจะมีส่วนที่ทำให้อัตราผู้ป่วยโรคหัวใจในหมู่ประชากรเอเชียใต้นั้นสูงผิดปกติ

ในประเทศปากีสถาน ตามผลการศึกษาในวารสาร Nutrition พบว่า ผู้ชายในปากีสถานมีโอกาสเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายมากกว่า ชาวอังกฤษและเวลส์ถึง 62 % นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ระบุว่าการนำน้ำมันที่ใช้แล้วมาอุ่นใช้ซ้ำ ยังจะเพิ่มอันตรายต่อร่างกายอีกด้วย

องค์การอนามัยโลกเชื่อว่า หากสามารถกำจัดไขมันทรานส์ให้หมดไปจากอุตสาหกรรมอาหารโลกภายในปี 2023 ความพยายามนี้อาจช่วยรักษาชีวิตของประชากรโลกได้กว่า 10 ล้านคน

ประเทศใดแบนไขมันทรานส์แล้วบ้าง

เดนมาร์ค เป็นประเทศบุกเบิกในการห้ามใช้ไขมันทรานส์อย่างสิ้นเชิงตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ทำให้มีอีกหลายชาติเดินรอยตาม

“ปัจจุบันเรามี 7 ประเทศในยุโรบที่แบนไขมันทรานส์โดยกฎหมาย และมันล้วนเริ่มต้นจากเดนมาร์ค” ดร. เจา บรีดา หัวหน้าหน่วย ป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อขององค์การอนามัยโลกประจำศูนย์ยุโรป กล่าว

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือเอฟดีเอ (FDA) ได้ห้ามใช้ไขมันทรานส์ โดยให้เวลาผู้ประกอบการ 3 ปีในการเลิกใช้ทั้งหมด ซึ่งเพิ่งครบกำหนดเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ได้ออกมาตรการให้ผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องติดฉลากปริมาณไขมันทรานส์ตั้งแต่ปี 2006 ซึ่งเอฟดีเอ ระบุว่าช่วยให้ชาวอเมริกันลดการบริโภคไขมันทรานส์ไปได้กว่า 3 ใน 4

เมื่อปี 2012 สิงคโปร์ ได้ออกกฎหมายจำกัดปริมาณไขมันทรานส์ในอาหารให้ไม่เกิน 2 กรัม ต่อประมาณไขมัน 100 กรัม และต้องระบุปริมาณไขมันทรานส์บนห่อบรรจุภัณฑ์ของอาหารประเภทไขมัน

เหตุใดไทยทำได้รวดเร็ว?

การประกาศของกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ อาจดูเหมือนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ความจริงแล้วมีการเริ่มศึกษาแนวทางในการเลิกใช้ไขมันทรานส์มาตั้งแต่ปี 2007 หรือกว่า 10 ปีมาแล้ว ตามคำกล่าวของ รศ.ดร. วันทนีย์ เกรียงสินยศ

รศ.ดร. วันทนีย์ ประธานหลักสูตรโภชนาการและการกำหนดอาหาร สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล กล่าวว่าก่อนการประกาศกฎกระทรวงครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการหลายรายก่อนแล้ว และ “ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีกับประชาชน” แต่เตือนว่าไขมันทรานส์ไม่ใช่ไขมันเพียงชนิดเดียวในอาหาร

“มันยังมีไขมันอิ่มตัว ที่มาจากพวกของทอด หรือพวกกรดไขมันอิ่มตัวอยู่ ซึ่งอาจจะเทียบได้ว่าดีกว่าไขมันทรานส์ ตรงที่ไม่ได้ไปลดไขมันที่ดีในเส้นเลือด แต่ก็จะเพิ่มทั้งไขมันที่ดีและไม่ดี ซึ่งการกินมากเกินไป ก็จะทำเกิดความเสี่ยงเหมือนกัน”

ไม่มีไขมันทรานส์ ไม่ได้แปลว่าไขมันต่ำ

นั่นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่คณะทำงานขององค์การอาหารและยา กำลังพิจารณาเกี่ยวกับการติดฉลาก “ปราศจากไขมันทรานส์” หรือ “Trans fat free” ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ไม่เข้าใจเชื่อได้ว่าเป็นอาหารไขมันต่ำ

หนึ่งในแนวทางที่อาจจะเกิดขึ้น คือ การกำหนดเกณฑ์ปริมาณไขมันอิ่มตัวสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการติดฉลากนี้ เช่นเดียวกับในหลายประเทศ

นอกจากนี้ ไขมันทรานส์ ยังสามารถพบได้ในธรรมชาติ จากเนื้อสัตว์ประเภทเคี้ยวเอื้อง แต่มักในอยู่สัดส่วนที่น้อยกว่า ไขมันทรานส์จากการเติมไฮโดรเจนหลายเท่า

“กฎหมายบ้านเรา อาจจะไม่ได้ให้เขียนว่าไขมันทรานส์เป็น ศูนย์ เพราะถ้าเขียนเช่นนั้น โดยที่ประชาชนยังมีความเข้าใจไม่ครอบคลุม อาจทำให้บริโภคเยอะได้” รศ.ดร. วันทนีย์ กล่าว

“เราควรกินแต่น้อย แต่ไม่ถึงขั้นไม่ให้กินเลย”

https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_1351095


Tags :

 
Menu
หน้าแรก
เครือข่ายผู้บริโภค
ศูนย์ราชการสะดวก
สื่อวิทยุสมาคม
ข่าวสาร
สรุปกิจกรรม 2566
สรุปกิจกรรม 2565
สรุปกิจกรรม 2564
สรุปกิจกรรม 2563
สรุปกิจกรรม 2561
สรุปกิจกรรม 2560
สรุปกิจกรรม 2559
สรุปกิจกรรม 2558
สรุปกิจกรรม 2557
สรุปกิจกรรม 2556
สรุปกิจกรรม 2555
สรุปกิจกรรม 2554
สรุปกิจกรรม 2553
สรุปกิจกรรม 2562
การร้องเรียน
ติดต่อเรา
แผนผังเว็บไซต์
สถิติเรื่องร้องเรียน
สมัครสมาชิก
เว็บบอร์ด
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 09/12/2010
ปรับปรุง 27/04/2024
สถิติผู้เข้าชม1,746,233
Page Views2,011,416
« May 2024»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
view