http://www.consumerprotection.or.th
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 สิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภค  เกี่ยวกับสมาคม  ผลการดำเนินงาน  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อออนไลน์
การใช้ยาอย่างสมเหตุผล
สาระน่ารู้เกี่ยวกับผู้บริโภค
ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ด้านบริการทางการแพทย์
ด้านอสังหาริมทรัพย์
ด้านอื่น ๆ
บทความ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง




 

ฮีโมฟีเลีย ผ่อนหนักเป็นเบาได้ด้วยการฉีดน้ำเหลืองทดแทน

ฮีโมฟีเลีย ผ่อนหนักเป็นเบาได้ด้วยการฉีดน้ำเหลืองทดแทน

โรคฮีโมฟีเลีย หรือ โรคเลือดออกง่ายหยุดยาก จัดอยู่ในกลุ่มโรคหายาก มีอุบัติการณ์อยู่ที่ 1:10,000 เท่านั้น แม้จะพบได้ยากแต่ก็เป็นโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูง คนที่ป่วยด้วยโรคนี้ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการเลือดออกในข้อ ในกล้ามเนื้อ ต้องระมัดระวังการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยเฉพาะกิจกรรมผาดโผนต่างๆ

ศ.พญ.อำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในอดีตเวลาคนไข้มีอาการเลือดออกในข้อแล้วมา โรงพยาบาล ต้องได้รับน้ำเหลืองทดแทนแฟคเตอร์ 8 หรือแฟคเตอร์ 9 ซึ่งเป็นสารโปรตีนช่วยในการแข็งตัวของเลือด ใช้เวลารักษา 3-7 วัน เดือนหนึ่งมีอาการ 2-3 ครั้ง เรียกได้ว่าแทบจะเข้า-ออกโรงพยาบาลตลอดเวลา อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดทำชุดสิทธิประโยชน์แก่ผู้ป่วยฮีโมฟีเลียสั่งซื้อแฟคเตอร์เข้มข้นที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคอย่างครบถ้วนและจัดสรรให้ผู้ป่วยไปฉีดเองที่บ้าน ก็ทำให้สถานการณ์ของผู้ป่วยดีขึ้นตามลำดับ

ศ.พญ.อำไพวรรณ กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการรับสิทธิของผู้ป่วยฮีโมฟีเลียนั้น เบื้องต้นต้องไปลงทะเบียนที่โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้บ้านซึ่งมีทั้งหมด 49 แห่งทั่วประเทศ จากนั้นแพทย์และพยาบาลจะทำการสอน ผู้ป่วยและครอบครัวให้สามารถฉีดแฟคเตอร์เข้มข้นเข้าหลอดเลือดดำได้เองที่บ้าน และให้ฉีดเมื่อเริ่มมีอาการติดขัดที่ข้อหรือกล้ามเนื้อซึ่งเป็นอาการเลือดออกโดยที่ข้อยังไม่เริ่มบวม ตัวแฟคเตอร์เข้มข้นจะช่วยหยุดอาการเลือดออกได้เร็วขึ้น ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล อีกทั้งการฉีดแฟคเตอร์เข้มข้นเมื่อเริ่มมีอาการแต่เนิ่นๆ ยังจะทำให้การรักษาได้ผลดีและใช้ปริมาณแฟคเตอร์น้อยกว่ารอจนข้อบวมซึ่งจะใช้แฟคเตอร์มากกว่า

"คนไข้จะได้รับแฟคเตอร์จำนวนหนึ่งไปฉีดที่บ้าน ในช่วงต้นก็มีผู้คัดค้านและการสอนให้คนไข้ฉีดยาเองก็ยากอยู่ คนไข้รายหนึ่งกว่าจะฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำได้เองอย่างน้อยใช้เวลา 1 ปี เราจะสอนตั้งแต่เลือกเส้นที่จะฉีดยา ให้กล้าจับเข็ม จับปีกของเข็มที่จะดึงออก ฯลฯ แต่ปรากฏว่าการตอบสนองจากคนไข้ดีมาก การฉีดแฟคเตอร์เข้าหลอดเลือดดำได้สำเร็จถือเป็นด่านที่สำคัญที่ต้องผ่าน ถ้าทำได้ การดูแลคนไข้ก็จะเดินหน้าต่อไปได้ เราจะสอนให้เขารู้ว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขาและเขามีหน้าที่ดูแลตนเอง" ศ.พญ.อำไพวรรณกล่าว

ศ.พญ.อำไพวรรณ กล่าวอีกว่า นอกจากการฉีดแฟคเตอร์เข้มข้นเมื่อเริ่มมีอาการแล้ว ปัจจุบัน บางโรงพยาบาลก็ริเริ่มการรักษาแบบป้องกัน กล่าวคือมีการฉีดแฟคเตอร์สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง โดยในเด็กเล็กจะใช้ปริมาณ 250 ยูนิต สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง หรือ 2,000 ยูนิต/เดือน ส่วนผู้ใหญ่ใช้ 500 ยูนิต สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง หรือ 4,000 ยูนิต/เดือน เพื่อป้องกันอาการเลือดออกในข้อ

ศ.พญ.อำไพวรรณ กล่าวว่า ทั้งนี้ ปริมาณ 250 หรือ 500 ยูนิต/สัปดาห์ ก็ยังถือว่าได้น้อยเมื่อเทียบกับต่างประเทศที่ฉีดกัน 3-4 ขวด/สัปดาห์ เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณในระบบสาธารณสุขที่ต้องแบ่งปันกันในทุกๆ โรค การรักษาฮีโมฟีเลียในไทยจึงปรับให้เหมาะสมตามบริบท กล่าวคือ การฉีดในปริมาณนี้ ผู้ป่วยสามารถไปโรงเรียนหรือทำงานได้ตามปกติ แต่คงไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตโลดโผน เช่น เตะฟุตบอล ต่อยมวย แต่ยังสามารถเล่นกีฬาที่ไม่มีการกระทบกระแทกรุนแรงได้ เช่น วิ่ง ตีแบด เป็นต้น

นอกจากนี้ ศ.พญ.อำไพวรรณ กล่าวว่า ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งคือ การรักษาแบบนี้จะได้ผลดีกับเด็ก แต่ในกลุ่มคนไข้ผู้ใหญ่เนื่องจากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมตั้งแต่วัยเด็ก มีข้อที่เลือดออกบ่อย แม้เราจะ สามารถได้แฟคเตอร์เข้มข้นครั้งละ 500 ยูนิต ก็ยังอาจมีอาการเลือดออกในข้อเพราะมีแผลเป็นที่เป็นปัญหามาอยู่แต่เดิม ขณะเดียวกัน ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือต้องเป็นความร่วมมือของคนไข้ด้วย เพราะบางครั้งคนไข้ก็เบื่อกับการฉีดยา ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจกันว่าถ้าไม่ได้ฉีดยา ข้อต่างๆ ก็จะพิการไปตามอายุ แต่ถ้าฉีดยาเพื่อป้องกันแต่เนิ่นๆ ข้อต่างๆ ก็จะมีอายุยืนยาวมากขึ้น

"ในภาพรวมแล้ว ด้วยแนวทางที่ สปสช.วางไว้ ทำให้คนไข้สามารถรักษาตัวเองที่บ้านและหมดไปจากโรงพยาบาล จะมาก็ต่อเมื่อมีอาการเลือดออกรุนแรงหรือมาทำฟันเท่านั้น จนกระทั่งในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนนักเรียนแพทย์ด้วย ตอนนี้ไม่มีตัวอย่างคนไข้เลือดออกในข้อมาให้นักเรียนแพทย์ได้เรียนแล้ว โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีที่ได้รับแฟคเตอร์เข้มข้นหลังปี 2549 เด็กจะปกติ ยิ่งในรายที่ให้การรักษาแบบป้องกันคนไข้ยิ่งเหมือนคนปกติ แต่ในกลุ่มคนไข้ผู้ใหญ่ยังเป็นปัญหาอยู่เนื่องจากตอนอายุยังน้อยไม่ได้รักษาเต็มที่ ก็เลยมีเยื่อบุข้อที่ผิดปกติอาจมีเลือดออกมากหน่อย"ศ.พญ.อำไพวรรณกล่าว

ทั้งนี้ ศ.พญ.อำไพวรรณ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีคนไข้ที่มาลงทะเบียนกับ สปสช.เพื่อรับแฟคเตอร์เข้มข้นประมาณ 1,600 คนทั่วประเทศ แต่ก็ถือว่าเป็นเพียง 1 ใน 4 ของคนไข้ทั้งหมด ส่วนหนึ่งที่คนไข้ไม่มาลงทะเบียนเพราะไม่คิดว่าจะรักษาได้ หรือมีความคาดหวังสูงว่ารักษาแล้วต้องหาย แต่เมื่อไม่หายขาดจึงรู้สึกผิดหวังและไม่มารับการรักษา ซึ่งก็ต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้มาลงทะเบียนรับแฟคเตอร์เข้มข้นให้มากกว่านี้ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

"คนไข้ส่วนหนึ่งเนื่องจากไม่เคยได้รับการดูแลตั้งแต่เด็กก็จะมีข้อที่พิการมากกว่าคนไข้คนอื่น แล้วก็เป็นความคาดหวังว่ามาลงทะเบียนแล้วจะรักษาจนหาย คือมันไม่ได้หายแต่ทำให้คุณมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อาการเลือดออกน้อยลง ทำให้อยู่ได้สบายขึ้น ดังนั้น ความคาดหวังต่างกัน คนที่ต้องการหาย 100% ถามว่ามีไหม ก็มีแต่ต้องปลูกถ่ายยีน ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มทำที่เมืองนอก แต่ในประเทศไทยเรายังไม่ได้เอาเรื่องการปลูกถ่ายยีนเข้ามาในประเทศ" ศ.พญ.อำไพวรรณกล่าว

ด้าน นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค ฮีโมฟีเลียของ สปสช. เป็นอัตราเหมาจ่ายเพิ่มเติมจากเงินเหมาจ่ายรายหัว โดยรวมแล้วมีค่าใช้จ่ายประมาณปีละ 300 ล้านบาท ในการจัดหาแฟคเตอร์เข้มข้นจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาล 49 แห่งทั่วประเทศ ที่เป็นศูนย์รับลงทะเบียนของ สปสช. รวมทั้งจะช่วยแนะนำ สอนผู้ป่วยและครอบครัวให้สามารถดูแลรักษาตัวเองที่บ้านได้

"อย่างไรก็ดี เนื่องจากแฟคเตอร์เข้มข้นถูกจัดอยู่ในกลุ่มชีววัตถุตามรายการในบัญชีนวัตกรรมไทย หมายความว่าหากสามารถผลิตในประเทศได้ ต้องให้ลำดับความสำคัญในการซื้อของที่ผลิตในประเทศก่อน ซึ่งขณะนี้โรงงานผลิตแฟคเตอร์เข้มข้นของสภากาชาดที่ศรีราชาได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากเกาหลีใต้ รวมทั้งได้รับการรับรองคุณภาพจากองค์การอนามัยโลกแล้ว แต่ประเด็นสำคัญคือต้นทุนที่สภากาชาดผลิตได้ยังสูงกว่าราคาที่ สปสช.จัดหามา จึงอาจส่งผลกระทบทำให้ผู้ป่วยได้รับแฟคเตอร์เข้มข้นในปริมาณที่ลดลงในวงเงินเท่าเดิม" นพ.ชูชัยกล่าวว่า

อย่างไรก็ตาม นพ.ชูชัยย้ำว่า สปสช.ได้หารือร่วมกับสภากาชาดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 3 รอบ เพื่อหาทางออกให้ผู้ป่วยได้รับแฟคเตอร์เข้มข้นในปริมาณที่ไม่น้อยกว่าเดิม ซึ่งอาจจะต้องของบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาลในปี 2562 แต่เป็นตัวเลขที่ไม่มากนัก ไม่น่าจะเกิน 25 ล้านบาท

http://www.thaihealth.or.th/Content/43364-ฮีโมฟีเลีย%20ผ่อนหนักเป็นเบาได้ด้วยการฉีดน้ำเหลืองทดแทน.html

Tags :

 
Menu
หน้าแรก
เครือข่ายผู้บริโภค
ศูนย์ราชการสะดวก
สื่อวิทยุสมาคม
ข่าวสาร
สรุปกิจกรรม 2566
สรุปกิจกรรม 2565
สรุปกิจกรรม 2564
สรุปกิจกรรม 2563
สรุปกิจกรรม 2561
สรุปกิจกรรม 2560
สรุปกิจกรรม 2559
สรุปกิจกรรม 2558
สรุปกิจกรรม 2557
สรุปกิจกรรม 2556
สรุปกิจกรรม 2555
สรุปกิจกรรม 2554
สรุปกิจกรรม 2553
สรุปกิจกรรม 2562
การร้องเรียน
ติดต่อเรา
แผนผังเว็บไซต์
สถิติเรื่องร้องเรียน
สมัครสมาชิก
เว็บบอร์ด
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 09/12/2010
ปรับปรุง 27/04/2024
สถิติผู้เข้าชม1,746,268
Page Views2,011,451
« May 2024»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
view