http://www.consumerprotection.or.th
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 สิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภค  เกี่ยวกับสมาคม  ผลการดำเนินงาน  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อออนไลน์
การใช้ยาอย่างสมเหตุผล
สาระน่ารู้เกี่ยวกับผู้บริโภค
ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ด้านบริการทางการแพทย์
ด้านอสังหาริมทรัพย์
ด้านอื่น ๆ
บทความ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง




 

รักษาสมดุลดูแลเซลล์ไม่ให้เสื่อม

รักษาสมดุลดูแลเซลล์ไม่ให้เสื่อม

ทุกคนบนโลกนี้รู้กันดีว่า “เซลล์” คือสิ่งเล็กๆ ที่เป็นต้นกำเนิดของอวัยวะทุกส่วนในร่างกายมนุษย์ทุกๆ วันร่างกายของเรามีเซลล์ กว่า100 ล้านเซลล์ ที่ตายและเกิดใหม่ทุกนาที

          แต่ไม่ใช่ทุกส่วนที่จะมีการสร้างเซลล์ใหม่มาทดแทน หรือแม้แต่เซลล์ที่สร้างมาทดแทนก็อาจไม่มีประสิทธิภาพดีได้เท่าเซลล์เดิมดังนั้นจึงไม่ควรมองข้ามและละเลยการดูแลเซลล์ จนเกิดภาวะที่เรียกว่า “เซลล์เสื่อม” เป็นเหตุให้ร่างกายเผชิญกับความเจ็บป่วย เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ตามมา

          นายแพทย์สิทธวีร์ เกียรติชวนันต์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย เผยว่า เมื่อมีอายุมากขึ้นระบบต่างๆ ในร่างกายจะเสื่อมลงทุกวัน แต่ก็จะมีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาซ่อมแซมเป็นกลไกธรรมชาติของร่างกาย “ภาวะเซลล์เสื่อม” ในแต่ละบุคคลเกิดขึ้นไม่เหมือนกัน โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นเมื่ออายุย่างเข้า 25 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเอง และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต

          สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ เช่น อาหารปิ้งย่าง อาหารสำเร็จรูป น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ความเครียดสะสม การอดนอน พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการได้รับสารเคมีบางประเภท ล้วนก่อให้เกิดอนุมูลอิสระมากเกินควร ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นในร่างกาย ส่งผลให้เซลล์และสุขภาพเสื่อมลง โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จึงมักแวะเวียนเข้ามาเยือนมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่อยู่ในกลุ่ม 3 โซนเสี่ยงเซลล์เสื่อม ดังนี้

          โซนมนุษย์เงินเดือน

          คนวัยนี้เป็นวัยกำลังสร้างเนื้อสร้างตัวถึงแม้จะเป็นวัยที่ยังแข็งแรงแต่ด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบที่ต้องดูแลครอบครัวและคนที่รัก ทำให้ต้องเผชิญกับความเครียดต่างๆ ทั้งจากเรื่องงาน ครอบครัว เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความเครียดที่เกิดภายใน

          นอกจากนี้ ความเครียดอีกประเภทที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ของร่างกาย โดยที่เราไม่ทันตั้งตัว และไม่สามารถรับรู้ได้ ความเครียดประเภทนี้มักแฝงมากับไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ อาหารการกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในยุคของโซเชียลมีเดียที่เข้ามามีอิทธิพลกับคนวัยทำงานอย่างมากซึ่งอำนวยให้สามารถประชุมหรือติดต่อตามงานกันได้ตลอดเวลา

          สาเหตุเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นทำให้เซลล์เกิดการอักเสบ ซึ่งไม่มีอาการบ่งชี้ สะสมเป็นเวลานาน ทำให้เซลล์และอวัยวะสำคัญของร่างกายเสื่อมลงในที่สุด และเมื่อใดที่วัยมนุษย์เงินเดือนรู้สึกว่าศักยภาพในการทำกิจวัตรต่างๆ ลดลง เช่น นอนไม่ค่อยหลับ ตื่นยาก รู้สึกสมองเบลอ คิดอะไรไม่ค่อยออก ปวดเมื่อยตามร่างกาย รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า มีอาการซึมเศร้า เบื่อหน่าย รูปร่างเปลี่ยนไป ผิวพรรณเหี่ยวย่น หมองคล้ำ เป็นต้น ควรรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อแก้ไขความ “เสื่อม” ระดับเซลล์โดยด่วน ก่อนที่จะสะสมลุกลามกลายเป็นโรคร้ายที่ยากต่อการรักษา

          โซนมนุษย์ป่วย

          ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการป่วยอยู่แล้วและจำเป็นต้องรักษาด้วยการใช้ยาสารเคมี การฉายรังสี หรือการผ่าตัด เพื่อระงับอาการของโรคนั้นๆ ขณะเดียวกันการใช้ยาหรือสารเคมีบางชนิดเพื่อรักษาโรคไม่ให้ลุกลามด้วยการเข้าไปกำจัดเซลล์ร้ายที่เข้ามาทำลายร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ได้กำจัดเซลล์ดีในร่างกายออกไปด้วย ทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ร่างกายอ่อนแอขึ้นกว่าเดิม ภูมิต้านทานลดลง ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เป็นต้น

          ตัวอย่างนี้เห็นได้ดีในผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาด้วยเคมีบำบัด ดังนั้นกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับสารอาหารเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์และครบทั้ง 5 หมู่พักผ่อนให้เต็มที่ ดูแลสุขอนามัยให้สะอาด ออกกำลังกายเท่าที่พอจะทำได้ และทำจิตใจให้สบาย เพื่อซ่อมแซมและเพิ่มปริมาณเซลล์ดีในร่างกาย ลดการเกิดโรคแทรกซ้อนและช่วยให้ประสิทธิภาพในการรักษาเป็นไปอย่างเต็มที่

          โซนมนุษย์ชรา

          มนุษย์วัยนี้เป็นวัยที่เซลล์มีความเสื่อมตามกลไกธรรมชาติมากที่สุดเซลล์บางชนิดในร่างกายไม่สามารถแบ่งตัวเพื่อทดแทนเซลล์เดิมที่เสื่อมสภาพหรือเสียหายได้ เช่น เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ เลนส์ตา จอตา อวัยวะรับเสียง กระดูกข้อต่อ และเซลล์ประสาทสมอง เป็นต้น

          ทำให้อาการเสื่อมในร่างกายชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้คนชรามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสูง เช่นโรคอัลไซเมอร์ โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน นอกจากนี้แล้วคนชรายังมีปัญหาใน เรื่องสายตา สายตาจะพร่ามัวมองเห็นภาพไม่ชัดเจน ตาสู้แสงไม่ค่อยได้ เนื่องจากเลนส์ตาขาดความยืดหยุ่น จึงทำให้ปรับโฟกัสได้ยาก และการเสื่อมสภาพของเซลล์รับแสงที่จอตา ทำให้ตาอ่อนแอต่อแสง

          ซึ่งความเจ็บป่วยเหล่านี้จะบั่นทอนจิตใจและส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนวัยชราแย่ลง แต่ภาวะเหล่านี้สามารถป้องกันได้ โดยเริ่มต้นตั้งแต่ลดการนำสารอนุมูลอิสระเข้าไปในร่างกาย รับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการทานอาหารหวานจัด มันจัด หรือเค็มจัด หลีกเลี่ยงมลภาวะ ออกกำลังกายแบบไม่หักโหม และรับประทานวิตามินเสริมที่เหมาะสมตามที่ร่างกายต้องการ

          นายแพทย์สิทธวีร์ เล่าต่อว่า คนที่อยู่ใน 3 โซนเสี่ยงเซลล์เสื่อม แม้จะเป็นกลุ่มที่น่าห่วงแต่ปัจจุบันมีวิวัฒนาการทางการแพทย์เข้ามาช่วยยืดอายุเซลล์ด้วยการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม อย่างเช่น เวชศาสตร์ชะลอวัย เป็นศาสตร์แนวใหม่ในการดูแลรักษาสุขภาพจากภายใน โดยวิเคราะห์ลงลึกไปถึงระดับพันธุกรรม การทำงานของเซลล์ต่างๆ ของอวัยวะภายในร่างกายของคนเรา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการดูแลรักษาสุขภาพ และป้องกันการเกิดโรค

          ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็นมนุษย์3โซน ตามที่กล่าวมาข้างต้น หรือมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้คงไม่มีใครหนีความแก่ชราไปได้ แต่ทุกคนสามารถเลือกที่จะมีอายุที่ยืนยาวและเข้าสู่วัยชราอย่างมีคุณภาพได้

          เพียงแค่รู้จักบริหารใจและร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง เพราะทั้งคู่ที่เป็นสิ่งสำคัญในการหล่อหลอมชีวิต ดังนั้นจึงต้องดูแลกายใจให้อยู่ในโซนแห่งความสุข ทำความรู้จักร่างกายตัวเอง และใช้ชีวิตอย่างไม่ฝืนธรรมชาติ เมื่อมีความสมดุล ทุกเซลล์ในร่างกายก็จะแข็งแรงและห่างไกลโรค

ไม่มีใครหนีความชราได้แต่ทุกคนสามารถเลือกที่จะมีอายุที่ยืนยาวและเข้าสู่วัยชราอย่างมีคุณภาพได้

http://www.thaihealth.or.th/Content/39021-รักษาสมดุลดูแลเซลล์ไม่ให้เสื่อม.html


Tags :

 
Menu
หน้าแรก
เครือข่ายผู้บริโภค
ศูนย์ราชการสะดวก
สื่อวิทยุสมาคม
ข่าวสาร
สรุปกิจกรรม 2566
สรุปกิจกรรม 2565
สรุปกิจกรรม 2564
สรุปกิจกรรม 2563
สรุปกิจกรรม 2561
สรุปกิจกรรม 2560
สรุปกิจกรรม 2559
สรุปกิจกรรม 2558
สรุปกิจกรรม 2557
สรุปกิจกรรม 2556
สรุปกิจกรรม 2555
สรุปกิจกรรม 2554
สรุปกิจกรรม 2553
สรุปกิจกรรม 2562
การร้องเรียน
ติดต่อเรา
แผนผังเว็บไซต์
สถิติเรื่องร้องเรียน
สมัครสมาชิก
เว็บบอร์ด
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 09/12/2010
ปรับปรุง 15/05/2024
สถิติผู้เข้าชม1,753,996
Page Views2,019,410
« May 2024»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
view