http://www.consumerprotection.or.th
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 สิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภค  เกี่ยวกับสมาคม  ผลการดำเนินงาน  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อออนไลน์
การใช้ยาอย่างสมเหตุผล
สาระน่ารู้เกี่ยวกับผู้บริโภค
ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ด้านบริการทางการแพทย์
ด้านอสังหาริมทรัพย์
ด้านอื่น ๆ
บทความ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง




 

บุหรี่ไฟฟ้า ยิ่งสูบยิ่งอันตราย

บุหรี่ไฟฟ้า ยิ่งสูบยิ่งอันตราย

ในปี 2559 ประเทศไทยต้องสูญเสียประชากรมากถึง 52,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 142 คน จากพิษภัยที่มากับบุหรี่ ซึ่งเปรียบเทียบการสูญเสียประชากรจำนวน 6 คน ภายในเวลาเพียง 60 นาที

          แม้สังคมจะร่วมรณรงค์กิจกรรมที่สร้างความตระหนักในการงดสูบบุหรี่ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคสมัยปัจจุบันก็ยังมีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่หันไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนการสูบบุหรี่แบบมวนหรือการสูบยาเส้น เมื่อเร็วๆ นี้ คณะแพทยศาสตร์จาก 3 สถาบัน ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัด การประชุมวิชาการร่วมคณะแพทย์ศาสตร์ร่วมสถาบัน พ.ศ.2560 : จุฬาฯ-รามาฯ-ศิริราชฯ (JCMS 2017) ขึ้น โดยมีหัวข้อบุหรี่ไฟฟ้ากับเยาวชนไทยเป็นหนึ่งในประเด็นสุขภาพที่ถูกหยิบขึ้นมาถก เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อเท็จจริงและองค์ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้เข้าร่วมประชุม ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ นิสิตนักศึกษา บุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ รวมถึงประชาชนที่สนใจเข้าร่วม

          โดย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองคณะบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยสถานการณ์การบริโภคยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทยว่า แม้ช่วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมาจะมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงในช่วงกลุ่มวัยต่างๆ แต่ในทางกลับกันพบว่าเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่มีจำนวนการใช้บุหรี่เพิ่มขึ้น สะท้อนว่าสถานการณ์การเข้าถึงและบริโภคยาสูบของเยาวชนไทยยังค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันยังมีคนไทยสูบบุหรี่เฉลี่ย 11 ล้านคน เทียบเท่ากับมีคน  1 คนที่สูบบุหรี่จากคนจำนวน 6 คนทั้งนี้ ในปี 2558 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคบุหรี่กับเยาวชนไทยที่อายุระหว่าง 13-15 ปี จากการสุ่มตัวอย่าง 30 โรงเรียน ทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน มีจำนวนนักเรียนร่วมตอบแบบสอบถามกว่า 2 พันคน พบข้อมูลว่า เยาวชนในช่วงอายุดังกล่าวสูบบุหรี่ถึงร้อยละ 11.3 แบ่งเป็นเพศชายร้อยละ 17.2 และเพศหญิงร้อยละ 5.2 และเยาวชนกว่าร้อยละ 3.3 เข้าถึงการใช้บุหรี่ไฟฟ้า อีกทั้งยังเคยทดลองสูบบารากู่มาก่อนหน้านี้ด้วย

          สำหรับประเด็นเรื่องเด็กและเยาวชนเป็นเหยื่อของบุหรี่ไฟฟ้า อ.พญ.นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤติ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลไว้ว่า จากการลงไปศึกษาพฤติกรรมผู้ติดบุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 214 ราย พบว่าอายุเฉลี่ยของเยาวชนในการเริ่มสูบบุหรี่อยู่ที่ 16 ปี โดยสาเหตุอันดับหนึ่งมาจากเพราะความอยากลองจากเพื่อนชักชวน และคิดว่าเท่ เพราะเชื่อว่าเป็นอุปกรณ์ที่มาจากต่างประเทศ ตามลำดับ ซึ่งเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าประมาณ 1 ใน 4 สูบเป็นประจำทุกวัน และบางคนต้องสูบภายใน 5 นาทีหลังตื่นนอน

          "จากการทบทวนการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบในวัยรุ่นต่างประเทศ ช่วงอายุระหว่าง 14-30 ปี จำนวน 17,389 คน พบว่า วัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นผู้สูบบุหรี่ทั่วไปในอนาคตสูงถึง 3.6 เท่าของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า จากการติดตามเยาวชนเมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเวลา 1 ปี มีรายงานพบว่า เยาวชนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 38 กลายเป็นคนสูบบุหรี่ในอนาคต ในขณะที่เยาวชนที่ไม่เคยใช้บุหรี่มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่จะกลายเป็นคนสูบบุหรี่ ส่วนรายงานจากเมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า มีนักเรียนมัธยมร้อยละ 31 ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าและกลายเป็นคนสูบบุหรี่ทั่วไปในเวลาเพียง 6 เดือน ในขณะที่มีนักเรียนเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้าและกลายเป็นคนสูบบุหรี่ สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อปล่อยให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการใช้หรือครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าได้ ก็เท่ากับเป็นการเปิดช่องว่างความเสี่ยงที่ปล่อยให้เยาวชนเหล่านี้ผันตัวเป็นนักสูบบุหรี่ได้ในอนาคต" อ.พญ.นภารัตน์ให้ข้อมูลทิ้งท้าย

          ด้าน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลให้ข้อมูลเกี่ยวกับภัยซ่อนเร้นที่แฝงมากับบุหรี่ไฟฟ้า ว่าเดิมทีบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้บำบัดนิโคตินสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ ซึ่งเป็นวิธีบำบัดร่วมกับการรักษา เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าจะส่งนิโคตินเข้าร่างกายได้ดีกว่าการใช้หมากฝรั่งเลิกบุหรี่ ดังนั้นจึงจำกัดการใช้งานภายใต้การดูแลของแพทย์ซึ่งในบางประเทศผู้ที่ไม่รับการบำบัดจะไม่สามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้

          รศ.นพ.นิธิพัฒน์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในบุหรี่ไฟฟ้าจะมี 2 ส่วนประกอบ คือ ส่วนของแบตเตอรี่และส่วนน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าที่มีอันตรายถึง 95% เนื่องจากน้ำยาบุหรี่ในท้องตลาดส่วนใหญ่สกัดจากใบยาสูบ แม้จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าแต่ร่างกายยังได้รับนิโคตินอยู่เหมือนเดิม แต่ต่างกันตรงที่บุหรี่ไฟฟ้าสามารถเพิ่มสารนิโคตินในการสูบแต่ละครั้งได้สูงกว่าบุหรี่ธรรมดา 3-10 เท่า ทั้งยังมีสารก่อมะเร็งหลายชนิด เช่น เบนซีน อะเซตตัลดีไฮด์ ไดเอทธิลีนไกลคอล สารไนโตรซามีน ที่สำคัญยังมีสารโลหะหนักที่เป็นพิษต่อร่างกายทั้งนิเกิลและโครเมียมที่มีพิษต่อปอด และแคดเมียมที่มีพิษต่อไต

          "บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็นบุหรี่ที่ปลอดภัย แต่จะได้รับสารพิษมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับเทคนิคการสูบ วิธีสูบ ความแรงของแบตเตอรี่เผาไหม้ และการผสมสารแต่งกลิ่น เนื่องจากเมื่อสารแต่งกลิ่นถูกความร้อนเผาไหม้จะทำให้เกิดการปล่อยอนุภาคขนาดเล็กมาก (PM 2.5) หรือเล็กกว่าขนาดหมอกควันที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือ และเกิดอนุภาคนาโนที่แทรกซึมไปก่อตัวอันตรายในอวัยวะต่างๆ ได้ทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเยื่อบุหลอดลมและถุงลม" รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

          แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว แต่ยังคงพบเห็นการขายผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตและตลาดทั่วไป ดังนั้นถ้าอยากจะให้เกิดการควบคุมที่เห็นผล ไม่ว่าภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง ไม่ผลักภาระให้ใครคนใดคนหนึ่ง เชื่อว่าจะเป็นการปกป้องคุ้มครองสุขภาพเด็กและเยาวชนไทยให้ห่างไกลจากบุหรี่ได้แน่นอน.

http://www.thaihealth.or.th/Content/38912-บุหรี่ไฟฟ้า%20ยิ่งสูบยิ่งอันตราย.html


Tags :

 
Menu
หน้าแรก
เครือข่ายผู้บริโภค
ศูนย์ราชการสะดวก
สื่อวิทยุสมาคม
ข่าวสาร
สรุปกิจกรรม 2566
สรุปกิจกรรม 2565
สรุปกิจกรรม 2564
สรุปกิจกรรม 2563
สรุปกิจกรรม 2561
สรุปกิจกรรม 2560
สรุปกิจกรรม 2559
สรุปกิจกรรม 2558
สรุปกิจกรรม 2557
สรุปกิจกรรม 2556
สรุปกิจกรรม 2555
สรุปกิจกรรม 2554
สรุปกิจกรรม 2553
สรุปกิจกรรม 2562
การร้องเรียน
ติดต่อเรา
แผนผังเว็บไซต์
สถิติเรื่องร้องเรียน
สมัครสมาชิก
เว็บบอร์ด
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 09/12/2010
ปรับปรุง 15/05/2024
สถิติผู้เข้าชม1,753,987
Page Views2,019,288
« May 2024»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
view