http://www.consumerprotection.or.th
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 สิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภค  เกี่ยวกับสมาคม  ผลการดำเนินงาน  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อออนไลน์
การใช้ยาอย่างสมเหตุผล
สาระน่ารู้เกี่ยวกับผู้บริโภค
ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ด้านบริการทางการแพทย์
ด้านอสังหาริมทรัพย์
ด้านอื่น ๆ
บทความ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง




 

เร่งวิจัย “ยีน” ต้นเหตุโรคออทิสติก คาดเด็กไทยป่วย 3 แสนคน

เร่งวิจัย “ยีน” ต้นเหตุโรคออทิสติก คาดเด็กไทยป่วย 3 แสนคน

กรมสุขภาพจิตคาดมีเด็กไทยป่วย “ออทิสติก” 3 แสนคน ห่วงยังเข้าถึงบริการรักษาน้อย เร่งวิจัยหายีนต้นเหตุของโรค โดยเทคนิคใหม่ล่าสุดของโลก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา

       น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคออทิสติกเป็นโรคทางจิตเวชที่มีความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสมองที่ล่าช้า 3 ด้าน คือ ด้านสังคม การพูดหรือด้านภาษาและพฤติกรรม ประเด็นที่กรมสุขภาพจิตเร่งดำเนินการขณะนี้มี 2 เรื่อง ประการแรกคือ การเพิ่มการเข้าถึงบริการรักษาของเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ให้เร็วที่สุด เมื่อเด็กได้รับการดูแลรักษาถูกต้องก็จะเติบโตสามารถทำงานมีอาชีพได้ ในภาพรวมทั้งประเทศไทยพบอัตราป่วยโรคออทิสติกได้ 6 คนในประชากรทุกๆ 1,000 คน คาดว่าทั่วประเทศจะมีเด็กป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 300,000 คน ในจำนวนนี้ยังเข้าถึงบริการน้อยมาก ประมาณร้อยละ 10 หรือปีละเพียง 30,000 กว่าคนเท่านั้น

       “สาเหตุที่เด็กป่วยโรคออทิสติกเข้าถึงบริการยังไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากเด็กที่เป็นโรคนี้อาจไม่มีลักษณะผิดปกติให้เห็นเมื่อแรกเกิด และเจริญเติบโตเหมือนเด็กทั่วไป เพียงแต่มีปัญหาทางพัฒนาการที่มีความล่าช้าไม่เป็นไปตามวัยเหมือนเด็กปกติทั่วไป ซึ่งจะเริ่มเห็นความผิดปกติตั้งแต่อายุ 1-2 ขวบ ลักษณะที่สำคัญคือไม่สบตา ไม่พาที และไม่ชี้นิ้ว แต่ที่ผ่านมาพ่อแม่ผู้ปกครองมักจะให้ความสนใจที่การเจริญเติบโตทางร่างกายเป็นหลัก ไม่ได้เอะใจเรื่องพัฒนาการของเด็ก และเข้าใจผิดว่าพัฒนาการเด็กจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หากเด็กคนไหนพูดช้าจะเชื่อและเรียกว่าเด็กปากหนักเอง และไม่พาไปหาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข มักแก้เคล็ดโดยใช้เขียดมาตบปาก เพื่อให้เด็กพูดเร็วขึ้น ซึ่งไม่เกิดผลดีอะไรกับเด็ก และทำให้เด็กขาดโอกาสได้รับความช่วยเหลือ มีพัฒนาการล่าช้า ซึ่งจะส่งผลถึงไอคิวและการเรียนของเด็กเมื่อโตขึ้น ซึ่งเด็กออทิสติกบางคนมีไอคิวสูงมาก” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

       น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าวว่า ประเด็นที่ 2 คือ การศึกษาวิจัยมุ่งแก้ไขป้องกันที่ต้นเหตุ โรคนี้ยังไม่รู้สาเหตุที่ชัดเจน แต่พบว่าพันธุกรรมเป็นปัจจัยที่มีส่วนทำให้เกิดโรคนี้ได้ ซึ่งสามารถพบอาการของออทิสติกในกลุ่มโรคพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการโครโมโซมเอกซ์เปราะ (Fragile X syndrome) หรือโรคพราเดอร์วิลลี ซินโดรม (Prader-Willi Syndromes) แต่พันธุกรรมของการเกิดโรคนี้ไม่ตรงไปตรงมา จำเป็นต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับสารพันธุกรรมและยีนต้องสงสัยที่คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคกลุ่มอาการออทิสติก หากรู้ความผิดปกติก็จะสามารถหาวิธีรักษาและช่วยให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้ให้โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะโรคกลุ่มอาการออทิสติกและมีชื่อเสียงระดับโลก ศึกษาวิจัยหายีนที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคออทิสติกในเด็กไทย โดยใช้เทคนิคการตรวจที่ทันสมัยล่าสุดในโลกเรียกว่า โฮล เอกโซม ซีเควนซิ่ง (Whole Exome Sequencing) สามารถศึกษายีนได้มากกว่า 20,000 ยีน ซึ่งประเทศไทยยังไม่เคยมีการศึกษาโดยใช้เทคนิคนี้มาก่อน 

       ขณะเดียวกัน ได้ให้ศึกษาวิจัยด้านการใช้ยารักษาควบคู่ไปด้วย โดยเน้นการตรวจหาพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับยา เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการดูแลเด็กที่ป่วยให้ดียิ่งขึ้นไป เรียกว่าพัฒนาไปสู่การจัดสูตรการรักษาเด็กแต่ละคน ซึ่งโดยทั่วไปการรักษาเด็กป่วยออทิสติกจะเน้นการฝึกกระตุ้นพัฒนาการที่บกพร่องไปเพื่อให้อยู่ใกล้เคียงปกติที่สุดควบคู่กับการใช้ยารักษาเพื่อลดปัญหาพฤติกรรมอารมณ์ช่วยให้เด็กอยู่นิ่ง และฝึกได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีปัญหาเรื่องการเผาผลาญยาที่ช้ากว่าคนทั่วไปและเกิดผลข้างเคียงได้ง่ายกว่า จะต้องได้รับการปรับยาให้เหมาะสม การศึกษาวิจัยทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์ในเด็กออทิสติกครั้งนี้ ดำเนินการร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะทำการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของยีนซึ่งมีความสัมพันธ์กับการออกฤทธิ์ของยารักษาโรค การตรวจหาระดับยาในกระแสเลือด การติดตามประสิทธิผลการรักษาและอาการไม่พึงประสงค์จากยาต่างๆ คาดว่าจะทราบผลการศึกษาวิจัยทั้ง 2 เรื่องในปลายปีนี้ และจะนำไปใช้เป็นแนวทางในการให้ยาเด็กออทิสติกในประเทศไทยต่อไป รวมทั้งจะนำเสนอในที่ประชุมวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้วิทยาการก้าวหน้าสู่บุคลากรการแพทย์ในช่วงปลายปีนี้ด้วย

       ทั้งนี้ ผลการศึกษาทั่วโลกพบว่า จำนวนเด็กออทิสติกทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น เป็น 6 ใน 1,000 คน และจากการศึกษาวิจัยของศูนย์ควบคุมป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (Center of Disease Control and Prevention) สหรัฐอเมริกา พบว่าในเด็ก 88 คนจะมีเด็กออทิสติก 1 คน เด็กชายจะมีแนวโน้มเป็นออทิสติกมากกว่าเด็กหญิง 5 เท่าตัว

http://www.thaihealth.or.th/Content/37882-เร่งวิจัย%20“ยีน”%20ต้นเหตุโรคออทิสติก%20คาดเด็กไทยป่วย%203%20แสนคน.html


Tags :

 
Menu
หน้าแรก
เครือข่ายผู้บริโภค
ศูนย์ราชการสะดวก
สื่อวิทยุสมาคม
ข่าวสาร
สรุปกิจกรรม 2566
สรุปกิจกรรม 2565
สรุปกิจกรรม 2564
สรุปกิจกรรม 2563
สรุปกิจกรรม 2561
สรุปกิจกรรม 2560
สรุปกิจกรรม 2559
สรุปกิจกรรม 2558
สรุปกิจกรรม 2557
สรุปกิจกรรม 2556
สรุปกิจกรรม 2555
สรุปกิจกรรม 2554
สรุปกิจกรรม 2553
สรุปกิจกรรม 2562
การร้องเรียน
ติดต่อเรา
แผนผังเว็บไซต์
สถิติเรื่องร้องเรียน
สมัครสมาชิก
เว็บบอร์ด
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 09/12/2010
ปรับปรุง 15/05/2024
สถิติผู้เข้าชม1,754,000
Page Views2,019,476
« May 2024»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
view