http://www.consumerprotection.or.th
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 สิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภค  เกี่ยวกับสมาคม  ผลการดำเนินงาน  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อออนไลน์
การใช้ยาอย่างสมเหตุผล
สาระน่ารู้เกี่ยวกับผู้บริโภค
ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ด้านบริการทางการแพทย์
ด้านอสังหาริมทรัพย์
ด้านอื่น ๆ
บทความ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง




 

ยกระดับเฝ้าระวังเอช7เอ็น9 ลามฤดูฝน

ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้ห่วงถึงการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 เนื่องจากสภาพอากาศจะทำให้เชื้อไวรัสเติบโตได้ดี เชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์นี้เกิดจากไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ต่างๆ ไปผสมกัน และกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ เอช 7 เอ็น 9 จึงอาจไม่พบอาการ หรือการตายของสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ 

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  ในเบื้องต้นประชาชนทั่วไปสามารถป้องกันตัวเองได้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อป่วย ล้างมือด้วยสบู่ รับประทานอาหารต้องมีช้อนกลาง เช็ดกลอนประตูหรือจัดสัมผัสร่วมต่างๆ และทำความสะอาดร่างกาย

ผอ.สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กล่าวอีกว่า มาตรการที่สำคัญในขณะนี้ คือ การ เฝ้าระวังโรคใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. ผู้ป่วยปอดบวมที่มีอาการป่วยเป็นกลุ่มใหญ่โดยไม่ทราบสาเหตุ 2. นักท่องเที่ยว 3. ผู้ที่มีประวัติการเดินทางมาจากต่างประเทศ หรือแม้แต่การสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ปีกที่มีอาการปอดบวม และ 4. บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งใน การสอบสวนโรคจะมีหน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วเข้าไปสอบสวนโรคในพื้นที่ทันทีถ้าพบผู้ป่วยปอดบวมเป็นกลุ่มใหญ่ รวมถึงคนใกล้ชิดด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่พบรายงานการเกิดดังกล่าว 

"ส่วนการรักษาโรคขณะนี้ยังคงต้องใช้ยาโอเซลทามิเวียร์ เพราะมีประสิทธิภาพสูง และยาดังกล่าวก็ยังไม่ถูกถอดจากบัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับประเทศเพื่อนบ้านที่พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกในขณะนี้มีกัมพูชาและเวียดนาม แต่ยังคงเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1" นพ.รุ่งเรืองกล่าว

 ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุด้วยว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ A (H5N1) ในปีพ.ศ.2547-2555 จำนวน 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย โดยพบผู้ป่วยล่าสุดเมื่อปี 2549 จำนวน 3 ราย ตั้งแต่ปี 2550-2555 ไม่พบผู้ป่วยภายในประเทศ

 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 13 เมษายน 2556 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ หรือปอดบวมที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต จำนวน 8 ราย และตัดออกจากการเฝ้าระวังเนื่องจากไม่เข้านิยามหรือมีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากเชื้อสาเหตุอื่นทั้งหมด 8 ราย

 ในด้านของมาตรการป้องกันและควบคุมโรคนั้น  นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาสำคัญขณะนี้มี 3 โรค นั่นคือ ไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่สายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 ไข้เลือดออก และไข้หวัดใหญ่ สธ.ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ เร่งดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค เพิ่มประสิทธิภาพระบบการเฝ้าระวังทุกพื้นที่ โดย สธ.เสนอมาตรการเฝ้าระวัง-ป้องกันไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ เอช 7 เอ็น 9 ในคนต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ.2556-2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยกำหนด 6 มาตรการให้ทุกจังหวัดปฏิบัติแนวเดียวกัน ได้แก่

1. ให้เฝ้าระวัง จับตาสัญญาณการระบาดในผู้ป่วย 4 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง ผู้มีอาการปอดบวมหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ ผู้ป่วยปอดบวมที่พบเป็นกลุ่มตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในชุมชน และบุคลากรทางการแพทย์ที่ป่วยเป็นปอดบวม

2. การเฝ้าระวังตรวจจับเชื้อเอช 7 เอ็น 9 ทางห้องปฏิบัติการ ทั้งในกระทรวงสาธารณสุขและภาคมหาวิทยาลัย

3. การดูแลรักษาพยาบาล ใช้แนวทาง การรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ และการป้องกันการติดเชื้อตามมาตรฐานไข้หวัดนก

4. เพิ่มการให้ความรู้แก่ประชาชน เรื่องโอกาสการเกิดระบาด การรักษาพฤติกรรมสุขภาพดีเช่น ล้างมือ ผู้ป่วยไข้หวัดให้สวมหน้ากากอนามัยและหยุดพักผ่อนอยู่บ้าน หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ เนื่องจากมีข้อมูลทางวิชาการพบว่า "สัตว์ปีก" ที่ติดเชื้อเอช 7 เอ็น 9 ไม่มีอาการป่วยและไม่ตาย โดยให้ล้างมือหลังสัมผัสสัตว์ รวมทั้งไม่นำสัตว์ที่ป่วยตายผิดปกติมาขายและรับประทาน

5. เตรียมพร้อมยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ทั้งชนิดกินและฉีด และวัสดุอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย

และข้อ 6. เตรียมการตรวจคัดกรองบริเวณช่องทางเข้า-ออกประเทศ โดยไทยจะยึดปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ซึ่งขณะนี้แนะนำว่ายังไม่มีความจำเป็นในการคัดกรองพิเศษเพื่อเพิ่มความมั่นใจว่า ทางการไทยสามารถรับมือกับโรคหวัดนก รวมถึงเชื้อสายพันธุ์ใหม่อย่าง เอช 7 เอ็น 9

 ทาง นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากการที่ นพ.ประดิษฐ รมว.สาธารณสุข สั่งการให้กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอย. ประชุมร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชนกรณีวัตถุดิบ "ยาโอเซลทามิเวียร์" ซึ่งมีการสำรองไว้เผื่อกรณีรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนก โดยมีประเด็นเรื่องยาใกล้หมดอายุ จึงมีการตรวจสอบร่วมกัน พบว่า อภ.ได้จัดซื้อวัตถุดิบจากบริษัท Hetero Labs Limited ประเทศอินเดีย เพื่อนำมาผลิตยาต้านไวรัส GPO-A-FLU โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ 1 ส.ค. 2551 - 16 ส.ค. 2552 จำนวน 1,540 ก.ก. ซึ่งผลิตและจำหน่ายหมดแล้ว ช่วงที่ 2 ระหว่าง 24 ก.ค. 2552 - 31 ก.ค. 2552 จำนวน 4,399.68 ก.ก. ผลิตและจำหน่ายไปบ้างแล้วเหลือวัตถุดิบสำรองอีก 3,499.9 ก.ก. หรือ 3.4 ตัน สามารถผลิตได้อีก 30 ล้านเม็ด

 นพ.บุญชัย กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบฉลากที่ถังบรรจุ พบว่า ได้ระบุวันที่ผลิต วันที่วิเคราะห์ซ้ำเอาไว้ โดยวันที่วิเคราะห์ซ้ำคือ เดือนมิ.ย., ก.ค., ส.ค. 2556 โดยตามมาตรฐานวัตถุดิบจะกำหนดวันที่ผลิต วันที่วิเคราะห์ซ้ำ เพื่อเป็นการตรวจสอบมาตรฐานของเคมี ในกรณีที่ยังไม่นำมาผลิตทันที หากวิเคราะห์ซ้ำและพบปัญหาก็จะต้องเลิกใช้ทันที แต่หากยังไม่จำเป็นต้องผลิตในช่วงเวลานั้น เมื่อตรวจสอบแล้วยังอยู่ในมาตรฐานก็สามารถเก็บต่อได้และตรวจสอบซ้ำตามกำหนดจนกว่าจะนำไปผลิต หากไม่ใช่วัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป ก็จะสามารถเก็บไว้ได้จนใกล้วันหมดอายุ เมื่อนำมาผลิตแล้วก็ยังจะมีอายุต่อไปตามที่ทะเบียนยากำหนด ไม่ว่าจะผลิตทันทีหรือเก็บไว้ก็ตาม

 ทั้งนี้ กรณีดังกล่าว อภ.ได้แจ้งว่า จะดำเนินการตรวจซ้ำวัตถุดิบที่เป็นตัวยาสำคัญเป็นประจำปีละครั้งตามหัวข้อสำคัญและจะตรวจซ้ำตามที่ระบุในฉลากของถังบรรจุวัตถุดิบด้วย "ขอยืนยันว่าวัตถุดิบยาโอเซลทามิเวียร์ไม่ใช่ยาใกล้หมดอายุ โดยกำหนดให้ผู้เก็บรักษาต้องมีการตรวจสอบมาตรฐานซ้ำ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะดำเนินการตรวจวิเคราะห์วัตถุดิบทุกรุ่นภายหลังการตรวจของ อภ. เพื่อยืนยันคุณภาพให้เกิดความมั่นใจ และยาที่ผลิตแล้วจะมีการศึกษาความคงสภาพทุก 6 เดือนตลอดช่วงอายุ ของยา หากพบปัญหาก็จะเรียกคืนทั้งหมด" นพ.บุญชัยระบุ

 ก่อนหน้านี้ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค สธ. กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกเอช 7 เอ็น 9 ว่า ช่วงปลายเดือนเม.ย. ได้ทราบข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกถึงการชันสูตรศพครอบครัวชายชาวเซี่ยงไฮ้ อายุ 87 ปี ที่มีลูกชาย 2 คน อายุ 38 ปี และ 20 ปี พบมีการติดเชื้อไข้หวัดไข้หวัดนก เอช 7 เอ็น 9 จากคนสู่คน

 โดยพบเชื้อไข้หวัดนกทั้ง 3 คนแต่พ่อและลูกชายคนเล็กเสียชีวิตจากการตรวจสอบผู้ป่วยในจีนล่าสุด 110 คน ยังไม่พบการติดเชื้อจากคนสู่คน จึงสันนิษฐานว่าเชื้อไข้หวัดนกเอช 7 เอ็น 9 อาจมีการติดต่อจากคนสู่คนได้และขณะนี้สัญญาณของโรคมีความเปลี่ยนไปจากเชื้อไข้หวัดนกเอช 5 เอ็น 1 ที่มีสัตว์เป็นสัญญาณ โดยสัตว์ปีกจะป่วยตายก่อน จึงจะติดต่อมายังคนแต่เชื้อเอช 7 เอ็น 9 พบว่าสัตว์ปีกไม่ป่วย ไม่แสดงอาการ ขณะที่คนกลับป่วยติดเชื้อ จึงถือว่าเชื้อมีความรุนแรงกว่า เอช 5 เอ็น 1

 "จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกยังพบว่า ในผู้ป่วยที่เป็นเด็กหญิงชาวปักกิ่ง ที่พ่อไปซื้อไก่จากตลาดฝั่งตรงข้ามพบป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกเอช 7 เอ็น 9 แต่การรักษามี ไข้สูง 39 องศาเซลเซียส แต่ได้รับประทานยาจีนก่อนการรักษาด้วยยาโอเซลทามิเวียร์ พบไข้ลดลงเหลือไม่ถึง 37.5 องศาเซลเซียส จากนั้นรักษาด้วยยาโอเซลทามิเวียร์ต่อ ซึ่งยาให้ความไวในการรักษา เด็กรอดชีวิต และจากข้อมูลยังพบบุตรชายของเจ้าของร้านขายไก่ป่วยแต่ไม่แสดงอาการด้วย จากข้อมูลเหล่านี้องค์การอนามัยโลกจึงสันนิษฐานว่า เชื้อไข้หวัดนกเอช 7 เอ็น 9 ยังตอบสนองต่อยาโอเซลทามิเวียร์ และคนยังสามารถเป็นพาหะของโรคได้ โดยไม่แสดงอาการ"

 ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวด้วยว่า มาตรการจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะต้องเข้มเรื่องความพร้อมของยา ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และประสานดูแลนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยว หากเจ็บป่วยรีบพบแพทย์ทันที ยังไม่มีความจำเป็นต้องห้ามการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ แต่ต้องเฝ้าระวัง

 ขณะเดียวกัน ก็แสดงความห่วงกรณีคณะกรรมการยาแห่งชาติ เตรียมถอดยาโอเซลทามิเวียร์ออกจากบัญชียาหลักแห่งชาติ เพราะเกรงหากมีการเจ็บป่วยจะกระทบต่อการรักษาและผู้ป่วย ซึ่งในประเด็นนี้ทางผอ.สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้ยืนยันแล้วว่ายังอยู่ในบัญชียาหลักเหมือนเดิม

 ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/news/34495

Tags :

 
Menu
หน้าแรก
เครือข่ายผู้บริโภค
ศูนย์ราชการสะดวก
สื่อวิทยุสมาคม
ข่าวสาร
สรุปกิจกรรม 2566
สรุปกิจกรรม 2565
สรุปกิจกรรม 2564
สรุปกิจกรรม 2563
สรุปกิจกรรม 2561
สรุปกิจกรรม 2560
สรุปกิจกรรม 2559
สรุปกิจกรรม 2558
สรุปกิจกรรม 2557
สรุปกิจกรรม 2556
สรุปกิจกรรม 2555
สรุปกิจกรรม 2554
สรุปกิจกรรม 2553
สรุปกิจกรรม 2562
การร้องเรียน
ติดต่อเรา
แผนผังเว็บไซต์
สถิติเรื่องร้องเรียน
สมัครสมาชิก
เว็บบอร์ด
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 09/12/2010
ปรับปรุง 27/04/2024
สถิติผู้เข้าชม1,747,191
Page Views2,012,377
« May 2024»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
view