วิธีรักษาใจให้ห่างไกลจากโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าหายได้แต่ต้องอาศัยหลายๆ อย่าง อาจจะกลับมาเป็นใหม่หรือเป็นต่อเนื่องก็ได้เหมือนกัน บางคนหายไปสองสามปีแล้วเป็นอีก บางคนรักษาหายไปสิบปีละกลับมาเป็นอีก ครั้งแรกที่ตรวจพบโรคซึมเศร้าอาจจะทานยาต้องรับประทานยาต่อเนื่อง 6-9 เดือน หลังจากหายเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ หากโรคซึมเศร้ากำเริบอีกครั้งต่อไปอาจจะเรื้อรัง ทำให้ต้องรักษาหรือทานยานานกว่าเดิม สิ่งกระตุ้นหลักๆ คือความเครียด คนรอบข้าง การงาน การเงินหรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจัยเสี่ยงก็มาจากเรื่องใกล้ตัวที่เกิดกับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า
ในประเทศไทยคิดว่าคนเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตมากน้อยแค่ไหน รวมถึงโรคซึมเศร้าด้วย?
โรคซึมเศร้าเป็นคำที่ทุกคนได้ยินบ่อย แต่คนส่วนใหญ่อาจยังไม่เข้าใจความหมาย สุขภาพจิตเป็นเรื่องกว้างมากและมีรายละเอียดที่อธิบายด้วยทฤษฎีเพียงอย่างเดียวไม่ได้ บางทีคนก็พูดไปในเชิงล้อเล่น ใช้โรคทางจิตเวชในการด่าทอ อาจเป็นเพราะขาดความรู้ความเข้าใจ พญ. ชัชชญายังได้เล่าอีกว่าจำนวนผู้ที่มารักษาในโรงพยาบาลเยอะขึ้นและรู้สึกว่าสังคมเปิดรับในเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้นด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีสื่อและการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ทำให้คนรู้จักโรคซึมเศร้าและเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพใจ
ปัจจุบันสถิติผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยอยู่ที่ราว ๆ 1,500,000 คน ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่าปี 2563 มียอดการโทรปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 อยู่ที่ประมาณ 700,000 คน แต่ในปี 2564 เพียงเดือนเดียวกลับมียอดสูงถึง 180,000 คน หลักจากที่ได้เห็นข้อมูลจาก www.worldpopulationreview.com เป็นเรื่องน่าตกใจที่ประเทศเป็นอันดับ 1 ในอาเซียนที่มีจำนวนประชากรฆ่าตัวตายสูงสุดและสูงเป็นอันดับที่ 32 ของโลก
เพราะสาเหตุหลักมาจากความคิดที่ทำร้ายใจ ก่อนอื่นต้องพยายามทำความเข้าใจผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าว่า ‘เขากำลังคิดอะไร รู้สึกอะไรอยู่’ แล้วก็รับฟังเขาอย่างไม่ตัดสิน อยู่ข้างๆ และเป็นกำลังใจให้เขา ในฐานะครอบครัว เพื่อน คนรักหรือคนใกล้ชิดอาจรู้สึกว่ายากที่จะปลอบใจหรือทำให้ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ารู้สึกดีขึ้น ไม่ว่าจะทางคำพูดและการกระทำ จริง ๆ แล้วสิ่งที่สำคัญคือ ‘เจตนา’ ของผู้ช่วยเหลือ ความตั้งใจและความหวังดีจะทำให้ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ารับรู้ได้ เพียงแต่ทุกอย่างต้องใช้ความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน การเข้าไปนั่งอยู่ในใจและมองในมุมเดียวกับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจทำให้เราหาสาเหตุของปัญหาเจอและสามารถช่วยเหลือเขาได้ตรงจุด บางคนอยากดูแลและหวังดีกับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าแต่ใช้คำพูดผิดวิธี เผลอบอกปัด หรือเราแนะนำว่าให้ไปเข้าวัดฟังธรรม ให้ปลง หรือบอกเขาว่า ‘เลิกเศร้าได้แล้ว อย่าคิดมาก’ โรคซึมเศร้าก็เป็นโรคหนึ่ง ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าเลิกคิดไม่ได้ อย่าเพิ่งรีบถามว่า ‘ทำไมไม่หายซะที’ ‘ทำไมยอมแพ้ง่ายจัง’ คำพูดที่สื่อว่าเราไม่เข้าใจหรือมองปัญหาของเขาเป็นเรื่องเล็กจะทำให้ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ารู้สึกไม่ดีและไม่อยากจะเปิดใจเล่าปัญหาให้เราฟังอีก
"สู้ๆ อย่าอ่อนแอสิ" คำที่ไม่ควรพูดกับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า
อย่าบอกให้ใครต้องต่อสู้เพียงลำพัง บางคนอาจจะโอเคกับคำนี้ รับรู้ในความห่วงใย แต่หลายคนก็รู้สึกโดดเดี่ยว สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการสื่อสารกับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าคือ บางครั้งเราให้กำลังใจเขาดีแล้ว แต่ด้วยโรคซึมเศร้า ทำให้เขาตีความไปในทางลบได้ ซึ่งเราก็ไม่ต้องโทษตัวเองถ้าเราได้พยายามอย่างดีแล้ว อาจใช้การสื่อสารตรง ๆ ว่าเราเป็นห่วงและอยากให้เขาได้รับความช่วยเหลือ เพราะผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าลึก ๆ แล้วมักรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า อาจสิ้นหวังและท้อแท้ใจได้ง่าย ๆ ดังนั้นต้องได้รับการช่วยเหลือ รักษาและดูแลจิตใจ เมื่ออาการของโรคดีขึ้น พวกเขาจะมีมุมมองที่เปลี่ยนไป สามารถมองโลกในแง่ดีเหมือนคนอื่น ๆ ได้เช่นกัน
ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า
- การออกกำลังกายและออกไปเจอแสดงแดด เพราะการได้เคลื่อนไหวช่วยให้จิตใจกลับมาแจ่มใสและคลายความเศร้าได้ นอกจากนี้การออกกำลังแบบแอโรบิก เช่น วิ่ง เดิน ว่ายน้ำ จะช่วยให้เรื่องอาการนอนไม่หลับ ช่วยในเรื่องระบบขับถ่ายและปรับสมดุล เมื่อร่างกายแข็งแรง ฮอร์โมนหมุนเวียนเป็นปกติ จิตใจก็ดีไปด้วย
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ แม้จะฟังดูเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่อาหารเพื่อสุขภาพช่วยได้จริง ๆ อาหารประเภทไข่ นม แซลมอน ถั่ว เต้าหู้ ธัญพืชต่าง ๆ มีส่วนช่วยให้ร่างกายผลิตเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ควบคุมอารมณ์และความรู้สึก อย่างที่กล่าวไปว่าเป็นสารจำเป็นสำหรับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า อาหารจึงนับเป็นตัวช่วยที่ไม่ควรมองข้าม
- เลือกทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ปลูกต้นไม้ ไปเดินห้างกับเพื่อน การทำอาหาร หรือแม้แต่การมีสัตว์เลี้ยง อะไรก็ได้ที่จะช่วยกระตุ้นความรู้สึกดี ๆ แม้บางครั้งเราอาจจะอยากอยู่คนเดียว ไม่อยากทำอะไร แต่หากพยายามอีกนิด พาตัวเองกลับเข้าสู่บรรยากาศที่เป็นมิตรรอบตัว เราอาจจัดการความรู้สึกด้านลบได้ง่ายขึ้น
- อย่าตั้งเป้าหมายหรือตัดสินใจทำอะไรที่ยากเกินไป อารมณ์ด้านลบอาจทำให้คนที่กำลังต่อสู้กับโรคซึมเศร้ารู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวอยู่ตลอด ทำอะไรก็ไม่ดี ฉะนั้นลองกำหนดเวลาให้บางช่วงเป็นการพักผ่อนร่างกายและจิตใจ การบังคับตัวเองให้ใช้แรงใช้สมองมากไป อาจทำให้เรายิ่งรู้สึกแย่กับตัวเอง ขอแค่ไม่ลืมว่าความรู้สึกดาวน์แบบนี้ไม่ได้คงอยู่ถาวร จะมีวันที่เรารู้สึกดีขึ้นแน่ๆ
- อย่าตัดสินใจเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตในขณะสภาพจิตใจไม่มั่นคง อย่างที่บอกว่าอาจเป็นช่วยที่เราหม่นหมองเป็นพิเศษ แต่เราต่างรู้ดีว่าหากหายจากอาการซึมเศร้า เราก็คือคนที่สามารถทำและตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ไม่แพ้ใคร เพียงแต่สภาพจิตใจที่ไม่พร้อมอาจทำให้เราไม่สามารถคิดอย่างมีสติได้ ดังนั้นเรื่องสำคัญ ๆ เช่น การลาออกจากงาน การหย่าร้าง ปัญหาครอบครัว ฯลฯ ในช่วงที่โรคซึมเศร้ากำลังบดบังสายตาของเรา ให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะหากเกิดความผิดพลาด ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าย่อมโทษตัวเองแน่นอน ทางที่ดีควรขอคำแนะนำจากคนที่เราไว้ใจ หรือพยายามยืดการตัดสินใจออกไปก่อน
- พยายามจัดลำดับความสำคัญ อย่างที่บอกว่าภาวะซึมเศร้าอาจทำให้เรารู้สึกว่าทุกอย่างนั้นยากไปหมด รุมเร้าจนเราทำอะไรไม่ถูก แค่จะเริ่มต้นก็รู้สึกท้อแท้แล้ว ดังนั้นการมองปัญหาโดยไม่แยกแยะจะทำให้เกิดความสับสน ไม่อยากทำอะไร ลองจัดเรียงความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ ย่อยเป้าหมายใหญ่ให้เล็กลง เมื่อตระหนักรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ เราจะจัดการชีวิตได้ง่ายขึ้น และพอทำสำเร็จไปทีละอย่างเราก็จะรู้สึกภูมิใจในตัวเอง เป็นการเรียกความมั่นใจกลับมา
ในการรักษาโรคซึมเศร้าทางการแพทย์
เมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ถูกต้อง จะเริ่มตั้งแต่การให้คำปรึกษา การพูดคุยถึงปัญหาแล้วช่วยกันแก้ไข เปลี่ยนความคิดและวิธีมองปัญหาในมุมใหม่ เน้นการปรับตัวและหาแนวทางดูแลจิตใจให้แข็งแรง เมื่อมีปัญหาเข้ามากระทบผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะสามารถเยียวยาจิตใจได้อย่างไร ในแต่ละรายก็มีสิ่งยึดเหนี่ยวแตกต่างกันไป แต่การพยายามหาสิ่งที่ผ่อนคลายอารมณ์และความเครียดให้เจอเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทำให้เราขจัดอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นลบในใจได้ นอกจากนี้ยังมีการให้ยาคลายกังวลหรือยาแก้ซึมเศร้าร่วมด้วยในบางราย ตามที่แพทย์ประเมินและเห็นสมควรว่าต้องรับประทานยาเพื่อช่วยปรับสารเคมีในร่างกาย
เมื่อผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ารู้สึกดีขึ้น จากที่ร้องไห้บ่อย ๆ มีอาการซึมเศร้า ท้อแท้ หมดพลังอยู่ตลอด ก็จะกลับมาเหมือนปกติและสนุกสนานกับชีวิตได้อีกครั้ง แต่โรคซึมเศร้าก็ไม่ได้ต่างจากโรคทางกายหรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ เพราะไม่ว่าจะโรคอะไรก็ตาม ยิ่งป่วยนานยิ่งรักษายาก หากทิ้งไว้นานยิ่งใช้เวลานานในการฟื้นฟู ถ้ารีบพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ อาการก็ดีขึ้นได้เร็ว จากสถิติพบว่า ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าเกิน 80% อาการดีขึ้นจนถึงขั้นหายเป็นปกติเมื่อได้รับการรักษาร่วมกับรับประทานยา แต่หากไม่ได้รับการรักษามีเพียง 20% ที่ดีขึ้น (ในกรณีที่อาการซึมเศร้าไม่รุนแรง) แต่หากซึมเศร้ารุนแรงก็เป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะฟื้นฟูใจด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ยังมีความซับซ้อนอีกหลายอย่างเช่น โรคซึมเศร้าสามารถเป็นร่วมกับโรคทางจิตอื่น ๆ ได้ ดังนั้นหากเรามีความเครียด ไม่สบายใจ หรือมีปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขแล้วรู้สึกว่าเราไม่สามารถก้าวผ่านสิ่งนั้นไปได้ อย่าชะล่าใจหรือปล่อยให้ก้อนหินกินพื้นที่ในใจเรา อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือ ปัจจุบันเรามีช่องทางมากมายให้คุณเข้าถึงบริการด้านสุขภาพใจได้โดยไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาล
อูก้าเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีทั้งนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ไว้คอยดูแลใจทุกคน โดยเรามีจำนวนผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 90 ท่าน ที่มีวุฒิการศึกษารับรอง โดยทุกคนสามารถพูดคุยปรึกษาได้ผ่านรูปแบบของวิดีโอคอล สะดวก ไม่ต้องเดินทาง และมีความเป็นส่วนตัวสูง อีกทั้งเรายังสามารถเลือกจิตแพทย์และเลือกช่วงเวลาที่เราต้องการได้เลยไม่ต้องรอคิว อูก้ายินดีแบ่งเบาทุกปัญหาใจ ให้เราได้ร่วมเดินทางและช่วยรับฟังความทุกข์ของคุณนะ
https://ooca.co/blog/depression/