http://www.consumerprotection.or.th
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 สิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภค  เกี่ยวกับสมาคม  ผลการดำเนินงาน  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อออนไลน์
การใช้ยาอย่างสมเหตุผล
สาระน่ารู้เกี่ยวกับผู้บริโภค
ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ด้านบริการทางการแพทย์
ด้านอสังหาริมทรัพย์
ด้านอื่น ๆ
บทความ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง




 

เปิดทางด่วนรักษา หลอดเลือดสมอง

เปิดทางด่วนรักษา หลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง จากภาวะหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก และนำไปสู่อาการอัมพฤกษ์อัมพาตได้ เมื่อเกิดอาการขึ้นต้องรีบเข้าสู่การรักษาให้ไว ภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงกำหนดให้เป็นหนึ่งในสาขาที่ต้องพัฒนาระบบบริการให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว

รพ.ขอนแก่น จึงเป็นหนึ่งในหลายๆ โรงพยาบาลที่มีการพัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมอง ให้เข้าสู่การรักษาแบบช่องทางด่วนพิเศษ (Stroke Fast Track) แต่ที่มีความพิเศษกว่าโรงพยาบาลอื่น และแทบจะเป็นที่แรกและที่เดียวในประเทศไทยที่ดำเนินการและมีการเก็บสถิติอย่างชัดเจนคือ การประสานงาน เพื่อลดขั้นตอนต่างๆ ที่ยุ่งยากตั้งแต่อยู่บนรถพยาบาลฉุกเฉิน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม

นพ.วีรศักดิ์ พงษ์พุทธา แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า หลังจากศูนย์สื่อสารประสานงานทางการแพทย์ 1669 ได้รับแจ้งจากผู้ป่วยที่โทร.มาจากที่เกิดเหตุ หรือจากที่บ้าน ก็จะดูว่า มีกลุ่มอาการที่เข้าได้กับโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ หากวินิจฉัยว่าเป็นกลุ่มนี้จะแจ้งทีมบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ออกรับผู้ป่วย ซึ่งจะต้องไปถึงผู้ป่วยภายใน 10 นาที เมื่อเจอผู้ป่วยแล้วจะตรวจร่างกายยืนยันว่า เป็นโรคหลอดเลือดสมองที่จำเป็นต้องนำเข้าสู่ช่องทางด่วนพิเศษ (Stroke Fast Track) ก็จะประสานกลับมาที่ห้องฉุกเฉิน และแพทย์อำนวยการประจำห้องฉุกเฉินว่าจะต้องทำอะไรและมีการประสานงานตั้งแต่บนรถ

“กระบวนการของAmbulance Stroke Fast Track จะดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและประสานงานตั้งแต่ผู้ป่วยอยู่บนรถ โดยไม่ต้องรอให้ผู้ป่วยมาถึงหน้าห้องฉุกเฉินแล้วค่อยเริ่มกระบวนการ โดยจะส่งข้อมูลผู้ป่วยทั้งชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อประสานการทำบัตรผู้ป่วยตั้งแต่คนไข้ยังมาไม่ถึงและใช้ระบบการแพทย์ควบคุมระยะไกล (TeleMedicine) ในการส่งข้อมูลอาการผู้ป่วยไปยังห้องฉุกเฉิน เช่น ความดันโลหิต คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ระดับบออกซิเจน เป็นต้น เพื่อให้แพทย์เวรห้องฉุกเฉินยืนยันว่า ผู้ป่วยรายนี้จำเป็นต้องนำเข้าการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแบบช่องทางด่วนพิเศษและจะได้ประสานห้องเอกซเรย์หรือทีซีสแกน เพราะการที่จะแทรกคิวผู้ป่วยคนอื่น จะต้องแน่ใจจริงๆ ว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่ต้องรีบดำเนินการ มิเช่นนั้นจะไม่ยุติธรรมกับผู้ป่วยรายอื่น รวมถึงมีการเจาะเลือดเตรียมไว้เพื่อนำส่งแล็บได้ทันที ซึ่งเป็นบริการที่มีคนไข้มากและรอคิวนาน”นพ.วีรศักดิ์ กล่าว

นพ.วีรศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อมาถึงโรงพยาบาลก็จะไปทำทีซีสแกนสมองเลย โดยไม่ต้องผ่านห้องฉุกเฉินอีก หากไม่มีอาการที่จำเป็นต้องรักษาด่วน เพราะขั้นตอนต่างๆ ดำเนินการมาตั้งแต่อยู่บนรถ เพราะหากไม่ทำเช่นนี้ ก็จะต้องเข้าห้องฉุกเฉินก่อนที่จะต้องมีการคัดกรอง ซักประวัติเพิ่มเติมวัดสัญญาณชีพ หัวใจ ความดันโลหิต แล้วถึงวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองเร่งด่วนถึงเอาเข้าสู่กระบวนการที่ต้องรีบรักษา แล้วยังมีการทำบัตร มีแพทย์มาตรวจ พยาบาลมาเจาะเลือดส่งตรวจ นำไปเอกซเรย์สมอง แล้วถึงให้อายุรแพทย์โรคหลอดเลือดมาหาผู้ป่วยถึงจะรับยา ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เยอะมากทำให้กระบวนการรักษาล่าช้า จึงต้องตัดบางขั้นตอนออกไปไว้ตั้งแต่บนรถพยาบาลฉุกเฉิน

“หากทำตามกระบวนการปกติ จะทำให้การรักษา คือ การให้ยาละลายลิ่มเลือดล่าช้าออกไป ซึ่งผู้ป่วยต้องได้รับภายใน 4 ชั่วโมงครึ่งตั้งแต่มีอาการ ไม่ใช่ตอนไปรับตัวผู้ป่วย ดังนั้น หากผู้ป่วยเกิดอาการตั้งแต่ตอน 8 โมง แต่โทร.และไปรับตัวตอน 9 โมง ก็จะเหลือเวลาแค่ 3 ชั่วโมงครึ่งที่ต้องรีบทำทุกอย่างให้รวดเร็วจึงเป็นเหตุผลที่ต้องประสานงานบนรถ” นพ.วีรศักดิ์ กล่าว

นพ.วีรศักดิ์ กล่าวว่า จากผลการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 พบว่า ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือดเฉลี่ยเร็วขึ้น 20 นาที ซึ่งถ้าดูตัวเลขอาจจะไม่เยอะ แต่ถ้าเป็นญาติเราหรือเราเองมีอาการ แขนขาข้างซ้ายขยับไม่ได้และรอให้ยา การรับยาเร็วขึ้น 20 นาที เมื่อเทียบกับกระบวนการตามปกติของผู้ป่วยถือว่าเยอะขณะที่บริการอื่น เช่น การทำทีซีสแกนก็รวดเร็วขึ้น 15 นาที ส่งตรวจแล็บเร็วขึ้น 13 นาที ทั้งนี้ แนวทางการให้บริการเช่นนี้ ยังอยู่แค่ใน รพ.ขอนแก่น แต่เฟสสองจะขยายบริการออกไปยังการส่งต่อผู้ป่วยมายัง รพ.ขอนแก่น และดำเนินการใน รพ.อำเภอทุกอำเภอ โดยจะไปวางเครื่องทีซีสแกนที่รพ.หัวเมือง เช่น รพ.ชุมแพ รพ.สิรินธร รพ.บ้านไผ่ รพ.น้ำพอง รพ.กระนวล และให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ และมีกระบวนการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางว่า ให้ได้หรือไม่ ทั้งนี้ โมเดลนี้สามารถใช้ได้กับทุกโรค แต่ต้องดูว่ามีความคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน เช่น โรคหัวใจ อุบัติเหตุ ที่สามารถส่งข้อมูลให้หมอผ่าตัดตั้งแต่ยังมาไม่ถึงเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีระบบช่องทางด่วนพิเศษ แต่ปัญหาคือ ผู้ป่วยยังนิยมเดินทางมาโรงพยาบาลเอง หรือรอดูอาการหรือรอญาติก่อน ทำให้การวินิจฉัยทำได้ล่าช้า กว่าจะมาถึงโรงพยาบาลก็เลยเวลา 4 ชั่วโมงครึ่งไปแล้ว

นพ.วีรศักดิ์ บอกว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่ยังเดินทางมาเองมากกว่า เมื่อเทียบกันแล้วผู้ป่วยที่มาด้วยระบบการแพทย์ฉุกเฉินต่อผู้ป่วยมาเองจะอยู่ที่ 1 ต่อ 3-4 คน สิ่งที่ต้องทำ คือ ประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงอาการของหลอดเลือดสมอง โดยอาการเสี่ยงที่ต้องรีบมาคือ หลักการ FAST ประกอบด้วย F:Faceคือ ใบหน้าเบี้ยวหรืออ่อนแรง ลิ้นตก ปากเบี้ยว A:Arm คือ แขนขาชาหรืออ่อนแรงซีกเดียว S:Speechคือ อาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก พูดไม่ได้ และ T: TIME คือ เวลาที่ต้องไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดใน 4 ชั่วโมงครึ่ง สำหรับคนที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้คือ คนที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป หรือมีโรคประจำตัวต่างๆ ที่ทำให้หลอดเลือดผิดปกติ เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า

นพ.วีรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนการรักษาจะใช้ยาละลายลิ่มเลือด แต่ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกราย ซึ่งหากดูจากสถิติแล้วจะพบว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองของ รพ.ขอนแก่นในปี 2561 จำนวน 500 ราย ทั้งมาด้วยระบบการแพทย์ฉุกเฉิน มาเอง หรือส่งต่อมา พบว่า 400 คนเป็นเส้นเลือดตีบ ได้ยาละลายลิ่มเลือดแค่30% โดยผู้ป่วยที่มาด้วยระบบฟาสต์แทร็กจำนวน 28 ราย ก็ได้รับยาเพียง 13 ราย โดยปัจจัยที่ทำให้ไม่ได้รับยา มาถึงช้ากว่า 4ชั่วโมงครึ่ง จนเลยเวลาที่จะได้ประโยชน์จากยาแล้ว ตรวจเลือดแล้วเจอข้อห้ามการใช้ยา มีโรคประจำตัวที่ให้ยาตัวนี้ไม่ได้ หรือกระบวนการการแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าการให้ยาไม่เกิดประโยชน์เช่น เป็นแค่นิดเดียว ไม่จำเป็นต้องให้ยาเพื่อเพิ่มความเสี่ยงที่เลือดจะออกในสมอง กระเพาะอาหาร หรืออาการรุนแรงมากจนการให้ยาไม่ช่วยอะไร เพราะหากให้ยาแล้วจะทำให้เลือดออกผิดปกติ โดยกลุ่มให้ยาไม่ได้ จะใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ออกซิเจน และให้ยาบางอย่างที่กระบวนการใกล้เคียงกันแล้วสังเกตอาการทางสมอง หากจำเป็นต้องผ่าตัดก็ผ่าตัดช่วย หลังพ้นช่วงนอนโรงพยาบาล สามารถกลับบ้านได้ก็จะมีเรื่องการให้ยาต่อเนื่อง และทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นกล้ามเนื้อ

สำหรับการรักษาด้วยความรวดเร็วอย่างการให้ยาละลายลิ่มเลือดบนรถเลยนั้น นพ.วีรศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่มี เพราะเป็นยาที่มีความเสี่ยงสูง โดยยาจะไปละลายลิ่มเลือดที่อุดในหลอดเลือดสมอง ทำให้เส้นเลือดเปิดออก เลือดวิ่งกลับเข้าไปเลี้ยงสมองได้ แต่ข้อเสีย คือ ละลายเลือดที่อื่นได้ด้วยทำให้คนไข้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆ มีโอกาสเลือดออกผิดปกติได้ มีอาการแย่ลง หรือมีโอกาสเลือดออกในสมองที่เยอะอยู่แล้ว เมื่อให้ยาตัวนี้ไป แทนที่ทำให้คนไข้ดีขึ้นจากสมองขาดเลือด กลายเป็นเลือดออกในสมองแทน เป็นยาความเสี่ยงสูงมาก จึงยังไม่มีใครให้บนรถ ต้องรีบมาให้ที่โรงพยาบาล

https://www.thaihealth.or.th/Content/49827-เปิดทางด่วนรักษา%20หลอดเลือดสมอง.html

Tags :

 
Menu
หน้าแรก
เครือข่ายผู้บริโภค
ศูนย์ราชการสะดวก
สื่อวิทยุสมาคม
ข่าวสาร
สรุปกิจกรรม 2566
สรุปกิจกรรม 2565
สรุปกิจกรรม 2564
สรุปกิจกรรม 2563
สรุปกิจกรรม 2561
สรุปกิจกรรม 2560
สรุปกิจกรรม 2559
สรุปกิจกรรม 2558
สรุปกิจกรรม 2557
สรุปกิจกรรม 2556
สรุปกิจกรรม 2555
สรุปกิจกรรม 2554
สรุปกิจกรรม 2553
สรุปกิจกรรม 2562
การร้องเรียน
ติดต่อเรา
แผนผังเว็บไซต์
สถิติเรื่องร้องเรียน
สมัครสมาชิก
เว็บบอร์ด
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 09/12/2010
ปรับปรุง 17/04/2024
สถิติผู้เข้าชม1,740,143
Page Views2,005,249
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
view