http://www.consumerprotection.or.th
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 สิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภค  เกี่ยวกับสมาคม  ผลการดำเนินงาน  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อออนไลน์
การใช้ยาอย่างสมเหตุผล
สาระน่ารู้เกี่ยวกับผู้บริโภค
ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ด้านบริการทางการแพทย์
ด้านอสังหาริมทรัพย์
ด้านอื่น ๆ
บทความ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง




 

ร้านยาชุมชนอบอุ่น ไม่ใช่แค่ขายยา

ร้านยาชุมชนอบอุ่น ไม่ใช่แค่ขายยา

พฤติกรรมการรับบริการสุขภาพของคนไทย เชื่อว่าหากมีอาการเจ็บป่วยไม่มาก คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไปร้านยามากกว่าไปคลินิกหรือโรงพยาบาลเพราะไม่อยากรอคิวนาน ด้วยเหตุนี้ร้านยาจึงเป็นอีกหนึ่ง stakeholder ที่สำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชน อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาบทบาทการทำงานร่วมกับระบบสุขภาพอาจจะไม่ชัดเพราะร้านยาส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชน แต่ถ้าหากสามารถให้ร้านยาที่มีกว่า 20,000 ร้านทั่วประเทศเข้ามาร่วมขับเคลื่อนการทำงานได้ ร้านยาจะเป็นพลังสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนและอาจทำให้ภาพของระบบสุขภาพของประเทศไทยเปลี่ยนไปเลยก็ได้

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เห็นความสำคัญในจุดนี้จึงได้มีความพยายามดึงร้านยาเข้ามาร่วมทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ โดยใช้ชื่อว่า "ร้านยาชุมชนอบอุ่น"

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. ให้ข้อมูลว่า ร้านขายยาเป็นเรื่องที่ สปสช.วิจัยมาแล้ว 10 ปี มีตัวเลขบางตัวที่น่าสนใจ คือ ในจำนวนคน 100 คน หากเจ็บป่วยขึ้นมา มี 20% ที่ไม่ได้ไปโรงพยาบาลหรือคลินิก แต่เลือกที่จะไปร้านยาก่อน ขณะที่อีกตัวเลขหนึ่งพบว่ายังมีคนกว่า 65% ที่ไม่ได้รับการดูแลส่งเสริมสุขภาพอย่างเพียงพอ ดังนั้นนี่คือจุดที่ต้องหันมามองแล้วว่าร้านขายยาหรือเภสัชกรต้องเข้ามามีบทบาทในการช่วยดูแลสุขภาพประชาชน ถือเป็นการยกระดับวิชาชีพเภสัชกรรมให้มีบทบาทสำคัญในระบบสาธารณสุขมากขึ้นอีกด้วย

การทำให้ร้านยาเข้ามามีบทบาท ขั้นแรกก็ต้องทำให้อยู่ในระบบเสียก่อน ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการ สปสช. จึงมีมติไปเมื่อไม่นานนี้ให้ร้านยาที่ขึ้นทะเบียนไว้เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ พูดง่ายๆก็คือกฎหมายได้ประทับตราแล้วว่าร้านยาที่มาขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบ
ขั้นตอนต่อมาคือการขับเคลื่อนให้ร้านยาเข้ามามีบทบาทในระบบ เบื้องต้น สปสช.ได้ทำโครงการนำร่องเป็นเวลา 6 เดือน รับสมัครร้านยาใน 11 เขตเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ ประกอบด้ว เขตจอมทอง เขตบางกอกน้อย เขตลาดพร้าว เขตดอนเมือง เขตคันนายาว เขตบางแค เขตบางคอแหลม เขตบางขุนเทียน เขตจตุจักร เขตดุสิต เขตสวนหลวง และโอสถศาลา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในปีงบประมาณต่อไปจะประเมินผลเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานต่อไป

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า เบื้องต้น สปสช.มอบบทบาทแก่ร้านยาในเรื่องการดูแลเรื่องยา การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (RDU) การใช้ยาอย่างถูกต้อง

"มีข้อมูลจากการวิจัยบอกว่าชาวบ้านเวลารับยาแล้วไปกองอยู่ที่บ้าน ปีหนึ่งมีมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท เป็นความสูญเสียที่ไม่ควรสูญเสีย เราคิดว่าเภสัชกรเป็นส่วนหนึ่งที่น่าจะมีบทบาทตรงนี้ ถ้าลดได้สัก 50% ก็เท่ากับประเทศชาติประหยัดเงินได้ 1,000 ล้านบาทแล้ว"
นอกจากนี้ ด้วยความที่วิถีชีวิตของประชาชนมักจะเข้าร้านยามากกว่าไปโรงพยาบาล เจ็บป่วยเล็กน้อยเข้าร้านยา ดังนั้นอีกบทบาทหนึ่งคืออยากให้ร้านขายยาเป็นจุดเริ่มต้นในการคัดกรองความเสี่ยงของโรค เช่น เบาหวาน ความดัน รวมทั้งให้คำแนะนำด้านสุขภาพ รวมทั้งยังมีอีกหลายกิจกรรมที่ทำได้ในร้านยา เช่น การให้คำแนะนำการเลิกบุหรี่ การวางแผนครอบครัว ฯลฯ

"กิจกรรมที่กำหนดมานี้คิดว่าเป็นเรื่องที่ร้านยาทำได้และทำอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนมากขึ้น นี่ถือเป็นข้อดีเพราะเราอยู่ในชุมชน ได้รู้จักคนในชุมชนและมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี มันทำให้คุณค่าของการทำงานเพิ่มมากขึ้น" นพ.จเด็จ กล่าว กล่าว

ด้าน ภญ.เพ็ญทิพา แก้วเกตุทอง ผู้จัดการสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน โอสถศาลา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในร้านต้นแบบร้านยาชุมชนอบอุ่น กล่าวถึงรูปแบบการให้บริการว่า เริ่มตั้งแต่ลูกค้าเดินเข้าร้านมา ถ้าต้องการซื้อยาก็ต้องมาที่เคาน์เตอร์ซึ่งมีเภสัชกรประจำอยู่ตลอด เภสัชกรจะสอบถามว่าป่วยเป็นอะไร มาซื้อยาอะไร แพ้ยาอะไร แล้วจ่ายยา ในขั้นตอนนี้คนไข้ก็จะถูกชักชวน เช่น เป็นโรคอะไรหรือไม่ ถ้ายังไม่เป็นโรคก็จะถามว่าเคยคัดกรองความเสี่ยงหรือไม่ เคยตรวจสุขภาพประจำปีหรือไม่ ถ้ายังไม่เคยก็จะเชิญเข้าไปพูดคุยกันเพื่อและสอบถามข้อมูลต่างๆและให้คำปรึกษา

"ผู้รับบริการก็จะถูกเชิญเข้าไปนั่งคุยกันในห้องเพื่อเข้าสู่กระบวนการการคัดกรองความเสี่ยง ข้อมูลพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ การกิน การพักผ่อน การออกกำลังกาย ฯลฯ แล้วก็ประเมินความเสี่ยงว่าเสี่ยงสูง ปานกลางหรือต่ำ ถ้ามีความเสี่ยง เภสัชกรจะให้คำแนะนำในเรื่องนั้นๆ เช่น ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารหวานมันเค็ม ความเครียด สูบบุหรี่ กินเหล้า ฯลฯ ถ้าไม่อยากเป็นโรคต้องลดพฤติกรรมอะไรบ้าง และวิธีการลดความเสี่ยงจะลดอย่างไร จะออกกำลังกายอย่างไรให้เหมาะกับอายุและไลฟ์สไตล์ การปรับเปลี่ยนอาหารกินผักมากขึ้น กินอาหารมากขึ้น ฯลฯ และในกลุ่มผู้สูงอายุก็จะคัดกรองความเสี่ยงโลหิตในสมองแตกเพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้งให้คำแนะนำว่าถ้าเกิดอาการต้องทำอย่างไร เป็นต้น" ภญ.เพ็ญทิพา กล่าว

ขณะเดียวกัน ร้านยาจะคีย์ข้อมูลทั้งหมดไปที่หน่วยบริการ ข้อมูลนี้ก็จะเป็นหน้าที่หน่วยบริการในการดึงคนไข้เข้าสู่ระบบการรักษา แต่ถ้าคนไข้มีความเสี่ยงสูง เช่น ความดันโลหิตสูงมาก ก็จะแนะนำให้ไปหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนทันที

"เราเจอมาเยอะสำหรับคนที่มีความดันโลหิตสูงและมีอาการปวดหัว ถ้าเจอแบบนี้ถือว่าอันตรายแล้ว เกรงว่าจะเส้นเลือดในสมองแตก เราสามารถออกใบส่งตัวไปที่หน่วยบริการได้ เอาความดันคนไข้ให้ลดลงก่อนเรื่องอื่นค่อยว่ากัน ซึ่งในเรื่องการส่งต่อนี้ เมื่อร้านยาเป็นหน่วยบริการแล้ว ทาง สปสช.จะเชื่อมร้านยาเข้ากับศูนย์บริการสาธารณสุขหรือหน่วยบริการ แปลว่าร้านยาจะไม่ทำงานโดดเดี่ยว จะมีศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นศูนย์กลางอยู่ สามารถ Refer คนไข้ไปที่ศูนย์ฯ หรือหน่วยบริการที่คนไข้ขึ้นทะเบียนไว้" ผู้จัดการสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน โอสถศาลา กล่าว

นอกจากงานเหล่านี้แล้ว อีกบทบาทของร้านยาชุมชนอบอุ่นคือการทำงานเชิงรุกลงเยี่ยมบ้านผู้ป่วยกับหน่วยบริการ เรื่องนี้ทางโอสถศาลาก็ดำเนินการอยู่ แต่การทำงานสามารถทำได้หลายอย่าง เช่น อาจไม่ต้องออกไปพร้อมกับหน่วยบริการก็ได้ แต่เวลาหน่วยบริการไปเจอปัญหาเรื่องยาก็สามารถติดต่อมาที่ร้านให้เภสัชกรร้านยาเป็นที่ปรึกษา หรือเภสัชกรร้านยาอาจจะก็เดินออกไปดูคนไข้ใกล้ๆร้าน ไม่เสียเวลามากเพราะเวลาเยี่ยมบ้านก็เยี่ยมในพื้นที่ใกล้ๆร้านอยู่แล้ว ไม่ได้ออกไปเยี่ยมไกลๆ

ภญ.เพ็ญทิพา กล่าวอีกว่า ในมุมของธุรกิจร้านยา การที่ สปสช.เอาร้านยาเข้ามาเป็นหน่วยบริการ แปลว่าทุกๆกิจกรรมของการบริการ สปสช.จะให้ค่าตอบแทนเป็นรายกิจกรรม ซึ่งตัวเลขอาจจะยังน้อย ไม่เพียงพอที่จะอยู่ได้หากทำงานบริการเหล่านี้เป็นงานหลัก เพราะฉะนั้นร้านยาอาจต้องสร้างฐานลูกค้าจำนวนที่มากพอจะทดแทนหรือควบคู่รายได้จากการขายยาด้วย อย่างไรก็ดี อีกมุมหนึ่งการให้บริการลักษณะนี้ก็เหมือนเป็น CRM (customer relationship management) ที่ช่วยผูกลูกค้าไว้กับร้านยา ถ้าให้บริการดี ไม่ต้องกลัวจะโดนแย่งลูกค้าเลยเพราะไม่มีใครไม่ชอบถ้ามีคนมาดูแล ยิ่งผู้สูงอายุยิ่งชอบ และถ้ามองในมุมของวิชาชีพแล้ว ตนคิดว่าร้านยาควรที่จะเข้าร่วมโครงการนี้เพราะวันนี้ร้านยาไม่ควรขายยาอย่างเดียว แต่น่าจะต้องในบริการด้วยองค์ความรู้จากวิชาชีพที่เรียนมาตั้ง 6 ปีด้วย

"ร้านยาสามารถช่วยแก้ปัญหาของระบบโดยการดึงคนไข้ออกจากความแออัดของโรงพยาบาลมาที่ร้านยา นั่นก็เป็นบทบาทที่ร้านยาสามารถทำงานสร้างสุขภาพและป้องกันโรคได้ การคัดกรองความเสี่ยงต่างๆ แทนที่จะเดินไปในโรงพยาบาล ถ้าร้านยาที่มีอยู่มากมาย 20,000 กว่าแห่งร่วมกันคัดกรองความเสี่ยงด้านสุขภาพ ให้คำแนะนำ คำปรึกษา เพื่อให้ลดความเสี่ยงและไม่นำไปสู่การเป็นโรค นั่นแปลว่ากระบวนการสร้างเสริมสุขภาพก็จะดีกับประชาชนและไม่ต้องวิ่งไปแออัดที่โรงพยาบาล" ภญ.เพ็ญทิพา กล่าว

ธนาวัฒน์ อมรสุทธิโชค อายุ 48 ปี พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งมีสาขาตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าใกล้ๆโอสถศาลา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่มารับบริการจากร้านยาชุมชนอบอุ่นแล้วเกิดการปรับพฤติกรรมสุขภาพ โดยธนาวัฒน์เล่าว่า ก่อนหน้านี้ไม่รู้จักคำว่าร้านยาชุมชนอบอุ่นเลย แต่เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาตนเข้ามาซื้อครีมที่โอสถศาลา พอดีเห็นมีเครื่องวัดความดันอยู่ด้วยจึงลองวัดดู ทางน้องๆ เภสัชกรพอเห็นตัวเลขความดันที่ 180 ก็ถามว่ามีโรคเบาหวานหรือโรคประจำตัวอื่นหรือไม่ มีการสอบถามและให้คำปรึกษาต่างๆ พูดง่ายๆก็คือให้คำแนะนำอย่างดี

"เราก็ไม่รู้ว่าทานกาแฟทำให้ความดันขึ้น เพราะ 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้านั้นผมทานทุกวันเลย อาจเป็นสาเหตุให้ความดันขึ้นโดยไม่รู้ตัว อีกอย่างคือรูปแบบการออกกำลังกาย ก่อนหน้านี้ผมออกกำลังกายโดยเล่นเวท เทรนนิ่งและการวิ่ง น้องเภสัชกรก็เลยแนะนำให้ทำคาดิโอแทน ตอนนั้นเรารู้ว่าความดันเป็นภัยเงียบ ก็กังวลว่าจะมีปัญหาหรือไม่ก็เลยกลับไปทำตามคำแนะนำ งดกินกาแฟ เปลี่ยนมาออกกำลังกายแบบคาดิโอ แล้วก็นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ปรากฎว่าตอนนี้ความดันลดเหลือ 135 แล้ว" ธนาวัฒน์ กล่าว

ธนาวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ความแตกต่างของร้านยาชุมชนอบอุ่นกับร้านยาทั่วไปคือร้านยาทั่วไป ถ้าไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัวก็จะขายยาอย่างเดียว ไม่ได้ซักถามให้คำแนะนำอะไรแบบนี้ ถ้าวันนั้นตนไม่เจอน้องเภสัชกรมาสอบถามให้คำแนะนำเชื่อว่าความดันโลหิตก็น่าจะยังสูงอยู่ ยังมีพฤติกรรมสุขภาพเดิมๆ แต่พอเจอแบบนี้ก็ทำให้ได้ไอเดียบางอย่างในการปรับพฤติกรรมสุขภาพ

https://www.thaihealth.or.th/Content/49439-ร้านยาชุมชนอบอุ่น%20ไม่ใช่แค่ขายยา.html

Tags :

 
Menu
หน้าแรก
เครือข่ายผู้บริโภค
ศูนย์ราชการสะดวก
สื่อวิทยุสมาคม
ข่าวสาร
สรุปกิจกรรม 2566
สรุปกิจกรรม 2565
สรุปกิจกรรม 2564
สรุปกิจกรรม 2563
สรุปกิจกรรม 2561
สรุปกิจกรรม 2560
สรุปกิจกรรม 2559
สรุปกิจกรรม 2558
สรุปกิจกรรม 2557
สรุปกิจกรรม 2556
สรุปกิจกรรม 2555
สรุปกิจกรรม 2554
สรุปกิจกรรม 2553
สรุปกิจกรรม 2562
การร้องเรียน
ติดต่อเรา
แผนผังเว็บไซต์
สถิติเรื่องร้องเรียน
สมัครสมาชิก
เว็บบอร์ด
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 09/12/2010
ปรับปรุง 20/04/2024
สถิติผู้เข้าชม1,743,399
Page Views2,008,544
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
view