http://www.consumerprotection.or.th
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 สิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภค  เกี่ยวกับสมาคม  ผลการดำเนินงาน  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อออนไลน์
การใช้ยาอย่างสมเหตุผล
สาระน่ารู้เกี่ยวกับผู้บริโภค
ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ด้านบริการทางการแพทย์
ด้านอสังหาริมทรัพย์
ด้านอื่น ๆ
บทความ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง




 

5 สัญญาณเตือน น.ร.-น.ศ. คิดสั้น

5 สัญญาณเตือน น.ร.-น.ศ. คิดสั้น

ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา การฆ่าตัวตายเกิดขึ้น หลายกรณี โดยเฉพาะกลุ่มของนิสิต-นักศึกษา ที่ฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลกรมสุขภาพจิตตั้งแต่ปี 2540-2560 พบว่า ปี 2540 มีอัตราการฆ่าตัวตาย 6.92 รายต่อประชากรแสนคน และเพิ่มเป็น 8.12 และ 8.59 รายต่อประชากรแสนคน ในปี 2541-2542 หลังจากนั้นตัวเลขลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2560 มีอัตราการฆ่าตัวตาย 6.03 รายต่อประชากรแสนคน

กรมสุขภาพจิตยังให้ข้อมูลว่ามี 5 สัญญาณเตือนเสี่ยงฆ่าตัวตายในโลกโซเชียล ที่สามารถเฝ้าระวังและสังเกตบุคคลในครอบครัว คนใกล้ชิด และเพื่อนฝูง ประกอบด้วย 1.โพสต์ข้อความสั่งเสียเป็นนัยๆ เช่น ขอบคุณ ขอโทษ ลาก่อน 2.โพสต์ข้อความเกี่ยวกับความตาย ไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้ว 3.โพสต์ข้อความเกี่ยวกับความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน 4.โพสต์ข้อความว่ารู้สึกผิด ล้มเหลว หมดหวังในชีวิต และ 5.โพสต์ข้อความว่าเป็นภาระของผู้อื่น

วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) ให้ความเห็นว่า จากเหตุการณ์ที่นักเรียน นิสิตนักศึกษา ฆ่าตัวตายจำนวนมาก แม้จะเป็นปัญหาแต่ละบุคคล แต่มหาวิทยาลัยควรมีส่วนช่วยนักศึกษาด้านต่างๆ เช่น การจัดการเรียนการสอนที่ดี จัดกิจกรรมต่างๆ กระตุ้นให้นิสิตนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ให้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ได้พบปะสังคมใหม่ พบปะผู้คนใหม่ๆ สามารถเรียนรู้การใช้ชีวิตในมุมมองต่างๆ ได้พบเห็นชีวิตของผู้อื่น เพราะหากนิสิตนักศึกษาอยู่กับตัวเองมากเกินไปเมื่อมีปัญหา ท้ายสุดจะหาทางออกไม่ได้

ครอบครัว พี่น้อง และเพื่อนที่เป็นคนใกล้ชิดนิสิต นักศึกษา จะต้องช่วยสอดส่องดูแลด้วยว่าคนใกล้ชิดนั้นมีปัญหาหรือไม่ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำความเข้าใจ

"นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอแนะให้มหาวิทยาลัยมีหน่วยงานดูแลด้านสุขภาพจิตนิสิต นักศึกษานั้น ทุกมหาวิทยาลัยต่างมีหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพจิต โดยนิสิต นักศึกษามีอาจารย์แนะแนวที่เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยารวมถึงอาจารย์ที่ปรึกษา ฉะนั้น ถ้านิสิต นักศึกษามีปัญหาก็สามารถเข้ามาปรึกษาได้" วุฒิศักดิ์แนะนำ

ด้าน รศ.พญ.สุรินทร์พร ลิขิตเสถียร อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เสริมข้อมูลว่า ปัจจุบันประชาชนมีภาวะความเครียดสูง เกิดจากปัจจัยต่างๆ มากมาย ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ประกอบกับการเข้าถึงสื่อได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดการเลียนแบบ สำหรับภาคเหนือมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่นๆ มานานแล้ว ด้วยปัจจัยต่างๆ ไม่เพียงปัจจัยความเครียดอย่างเดียว แต่มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น การใช้สารเสพติด การมีโรคเรื้อรัง ขาดการดูแลเอาใจใส่จากญาติพี่น้อง เป็นปัจจัยเสริมด้วย

แนวทางแก้ไขปัญหาคือ เราต้องดูสุขภาพจิตโดยรวมของประชาชนให้เขาเข้าใจและตระหนักว่าปัญหาสุขภาพจิตสามารถเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องธรรมดา ขอเพียงให้มีทัศนคติที่ดีและยอมรับ เพราะคนเป็นโรคซึมเศร้าไม่ใช่คนอ่อนแอ แต่เป็นสารเคมีในสมองหรือทางชีวภาพที่เกิดขึ้นได้ ขอเพียงเปิดมุมมองใหม่ เปิดใจยอมรับ เพื่อช่วยกันป้องกันปัญหา

"กลุ่มวัยรุ่นหรือนักศึกษาที่อาจมีความเครียดจากความคาดหวังของพ่อแม่ การเรียน ควรต้องสร้างภูมิคุ้มกันมาตั้งแต่ครอบครัว ให้เขาเรียนรู้ว่าอาจผิดหวังได้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ส่วนใหญ่เด็กๆ จะมีกลุ่มเพื่อนคอยดูแลกันและให้คำปรึกษาได้ดีกว่าพ่อแม่ จึงอยากให้เด็กๆ ช่วยเหลือกันเองด้วย" รศ.พญ.สุรินทร์พรแนะนำ

นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ย้อนหลัง 3-4 ปีมานี้ ยังไม่พบว่าการฆ่าตัวตายสูงขึ้นกว่าเดิม พบตัวเลขการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ประมาณ 4,000 ราย หรือบวกลบไม่เกิน 100 รายต่อปี ส่วนสาเหตุการฆ่าตัวตายนั้น พบว่ากว่าร้อยละ 60 มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะผู้ที่คิดฆ่าตัวตายจะมีความอ่อนไหวกับเรื่องครอบครัวเป็นหลัก

"วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ คนในครอบครัวต้องพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ และพร้อมจะรับฟังทุกเรื่อง เพราะการฟังถือเป็นอาวุธสำคัญที่จะช่วยให้ผู้คิดจะฆ่าตัวตายได้ปลดปล่อย  ส่วนคนที่มีภาวะหดหู่อยากฆ่าตัวตาย สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ ต้องหาใครสักคนอยู่ด้วย อย่าอยู่คนเดียวเด็ดขาด หรือหากไม่มีใคร ให้โทรปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323" นพ.ณัฐกรแนะนำ

ด้าน ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่งทั่วประเทศ ให้ความเห็นว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง มีนักศึกษาในสังกัดเกือบ 2 แสนคน เท่าที่ติดตามข่าวทราบว่ามีอยู่ 6 มหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาฆ่าตัวตาย จึงประสานให้ส่วนที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษา โดยเฉพาะสโมสรนักศึกษาทุกวิทยาเขต ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ากับนักศึกษาเป็นการเร่งด่วน เพราะอาจเกิดเหตุนักศึกษาฆ่าตัวขึ้นอีก

เบื้องต้นให้อาจารย์แนะแนวเฝ้าสังเกตการณ์นักศึกษาที่มีอาการเงียบขรึม ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว ไม่ค่อยพูดจากับเพื่อนฝูง โดยให้อาจารย์เข้าไปสอบถามพูดคุยว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ สำหรับนักศึกษาที่พักอาศัยอยู่ในหอพัก ก็จะให้อาจารย์ที่ปรึกษาเข้าไปเยี่ยมเยือนนักศึกษาที่มีอาการซึมเศร้าอย่างใกล้ชิดด้วย แต่ทั้งนี้ ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ มักจะเกี่ยวเนื่องกับการใช้โซเชียล ทำให้มีโลกส่วนตัวสูง และลัทธิเลียนแบบเริ่มมีอิทธิพลกับเยาวชนสูงมาก

"ผมได้พูดคุยกับที่ประชุมแล้วว่าควรเฝ้าระวัง และป้องกันปัญหาโรคซึมเศร้าในนักศึกษาอย่างเข้มงวด เพื่อเป็นการป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ ก่อนที่อะไรจะสายเกินไป" ผศ.ดร.วิโรจน์สรุป

ขณะที่ บุญเลิศ พ่วงเพ็ชร ผู้อำนวยการโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย เผยว่า โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยมีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันเรื่องเด็กนักเรียนซึมเศร้า และเครียดมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันได้จัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ โดยใช้กิจกรรมเข้ามาช่วย โดยให้เด็กนักเรียนออกไปบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เพื่อให้รู้คุณค่าการมีชีวิตที่แท้จริง

"ถ้าไม่ฉีดวัคซีนชีวิต ให้เขารู้เรื่องและเข้าใจการใช้ชีวิตอย่างลึกซึ้งตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้นักเรียนที่จบออกไปมีปัญหา อีกทั้งทางโรงเรียนประชุมผู้ปกครองบ่อยครั้ง เพื่อทำความเข้าใจว่าอย่าไปกดดันบุตรหลานมากเกินไปว่าต้องเก่ง ต้องสอบได้ในสาขาที่ต้องการ ความกดดันจะตกอยู่กับลูกๆ ก่อให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า และอาจส่งผลให้คิดฆ่าตัวตาย ดังนั้น ที่ผ่านมานักเรียนของโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จึงเรียนด้วยความสุข ไม่เครียด" ผอ.โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยเผยวิธีป้องกัน

เป็นข้อกังวลและข้อแนะนำที่จะช่วยกันป้องกันมิให้เกิดเหตุเศร้าสลด ที่นักเรียน นิสิตนักศึกษาต้องจบชีวิตตัวเอง มิเพียงแต่ครอบครัวเพื่อนฝูงต้องเศร้าเสียใจ แต่เป็นการสูญเสียบุคลากรที่จะเป็นอนาคตของประเทศไปด้วย

https://www.thaihealth.or.th/Content/47933-5%20สัญญาณเตือน%20น.ร.-น.ศ.%20คิดสั้น.html

Tags :

 
Menu
หน้าแรก
เครือข่ายผู้บริโภค
ศูนย์ราชการสะดวก
สื่อวิทยุสมาคม
ข่าวสาร
สรุปกิจกรรม 2566
สรุปกิจกรรม 2565
สรุปกิจกรรม 2564
สรุปกิจกรรม 2563
สรุปกิจกรรม 2561
สรุปกิจกรรม 2560
สรุปกิจกรรม 2559
สรุปกิจกรรม 2558
สรุปกิจกรรม 2557
สรุปกิจกรรม 2556
สรุปกิจกรรม 2555
สรุปกิจกรรม 2554
สรุปกิจกรรม 2553
สรุปกิจกรรม 2562
การร้องเรียน
ติดต่อเรา
แผนผังเว็บไซต์
สถิติเรื่องร้องเรียน
สมัครสมาชิก
เว็บบอร์ด
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 09/12/2010
ปรับปรุง 24/04/2024
สถิติผู้เข้าชม1,743,572
Page Views2,008,734
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
view