เป็นโรคไต ห้ามกินอะไร แล้วควรกินอะไร
โรคไต เป็นโรคที่คนไทยหลายคนกำลังประสบพบเจอ เป็นโรคที่เกิดจากอาหารการกินที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และไม่ถูกหลักโภชนาการ การทานอาหารที่ไม่มีความสมดุล ทานบางอย่างมากเกินไป สะสมนานวันเข้า สุดท้ายอาจเป็นโรคไตได้
แต่นอกจากอาหารเค็มแล้ว ยังมีอีกหลายอย่างที่คนเป็นโรคไต หรือที่กำลังฟอกไตอยู่ควรระวัง
ฟอสฟอรัส ตัวอันตรายสำหรับผู้ป่วยโรคไต
นอกจากโซเดียมที่เป็นตัวการสำคัญของโรคไต และความดันโลหิตสูงแล้ว ยังมีฟอสฟอรัสอีกตัวที่จะทำให้อาการของโรคไตแย่ลง เพราะเมื่อไตของเรากำลังเสื่อม ก็จะมีความสามารถในการกรองเอาสารอาหารประเภทฟอสฟอรัสออกมาได้น้อยลง เพราะฉะนั้นก็แปลว่า ทานอาหารที่มีฟอสฟอรัสเข้าไปมากเท่าไร มันก็สะสมอยู่ในร่างกายไม่ออกไปไหนเสียที ทั้งที่จริงๆ แล้ว คนที่ไตทำงานปกติ ไตจะกรองเอาสารอาหารที่เกินความจำเป็นต่อร่างกายออกให้ แต่ทีนี้พอฟอสฟอรัสไม่ยอมออกไปเลย ก็เลยทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
ฟอสฟอรัส ทำร้ายร่างกายผู้ป่วยโรคไตได้อย่างไร
ผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการแจ้งจากแพทย์ว่า กำลังอยู่ในภาวะฟอสฟอรัสในเลือดสูง สังเกตอาการได้ง่ายๆ คือจะรู้สึกผิวหนังดำคล้ำมากขึ้น คันยิบๆ ตามตัวจนรู้สึกรำคาญ หรือหากเป็นหนักๆ นานเข้า อาจถึงขั้นกระดูกเปราะ หรือหักได้ง่ายเลยทีเดียว
นอกจากนี้อาจมีอาการต่อมพาราไทรอยด์โต และซ้ำร้าย อาจทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดที่ใช้ในการฟอกเลือด สำหรับคนที่กำลังฟอกไตอยู่ได้
งดฟอสฟอรัสไปเลยดีไหม
ฟอสฟอรัส ไม่ใช่สารอาหารที่ให้แต่โทษเพียงอย่างเดียวนะคะ เพราะจริงๆ แล้ว ฟอสฟอรัสยังช่วยลดอากสในการเกิดโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดต่างๆ ได้เหมือนกัน แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไต ควร “จำกัด” การทานอาหารที่มีฟอสฟอรัส เพื่อไม่ให้มีปริมาณฟอสฟอรัสสะสมอยู่ในร่างกายมากจนเกินไป
อาหารที่ผู้ป่วยโรคไต ควรหลีกเลี่ยง (นอกจากอาหารรสจัดแล้ว ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง)
- ไข่แดง
- เนื้อสัตว์ติดมัน
- ถั่วต่างๆ รวมถึงธัญพืชจำพวก งาดำ งาขาว
- ผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น ชีส โยเกิร์ต ไอศรีมที่ทำจากนม
- ข้าวกล้อง
- บะหมี่
- ขนมปังโฮลวีต
- ขนมเบเกอรี่ต่างๆ
- ผักสีเข้ม เช่น คะน้า บล็อกโคลี่ แครอท ผักโขม กะเพรา โหระพา ขี้เหล็ก ชะอม ฟักทอง มะเขือเทศ
- เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชาเขียวใส่นม น้ำอัดลม โกโก้/ช็อคโกแลต
- ขนมไทยที่ทำจากไข่แดง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง
- สังขยา ขนมหม้อแกง คัสตาร์ด
-
อาหารที่ผู้ป่วยโรคไต ควรทาน (ถ้าให้จำง่ายๆ มองหาอาหารที่มีสีจืดๆ สีไม่เข้ม)
- ไข่ขาว
- ปลา
- เนื้อหมู ไก่ (ที่ไม่ติดมัน)
- น้ำเต้าหู้ที่ทำสดๆ น้ำนมข้าวที่ไม่ปรุงแต่ง
- ข้าวขาว
- เส้นหมี่ เส้นเล็ก วุ้นเส้น
- ผักสีอ่อน เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ฟัก มะเขือยาว มะเขือเปราะ มะระ ผักบุ้ง (การนำไปลวก หรือต้มก่อนทาน ก็จะช่วยลดฟอสฟอรัสในผักได้)
- น้ำขิง
- ชาไม่ใส่นม
- น้ำหวาน
- เมอแรงค์ (ทำจากไข่ขาว) ซาหริ่ม ขนมชั้น ลอดช่อง วุ้น
ถึงแม้อาหารเหล่านี้จะทานได้ แต่ก็ไม่ควรทานจนมากเกินไป ควรรักษาสมดุลของอาหารให้ดี และทานอาหารให้หลากหลาย ไม่ซ้ำซากจำเจเหมือนเดิมในทุกๆ วัน ทุกๆ มื้อ เพื่อให้ได้สารอาหารที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ใครที่ต้องทานยาจับฟอสฟอรัส ก็อย่าลืมทานพร้อมอาหารอย่างสม่ำเสมอด้วย ช่วยให้ฟอสฟอรัสไม่สูงได้เป็นอย่างดี ถ้าเราควบคุมปริมาณฟอสฟอรัสในเลือดได้ อาการโรคไตของเราก็จะดีขึ้นตามลำดับ โรคไตสู้ได้ ไม่ต้องกลัวค่ะ
https://www.sanook.com/health/7389/