โรคซึมเศร้าคืออะไร?
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าคือเรื่องความรู้ความเข้าใจ คนทั่วไปเริ่มได้ยินชื่อบ่อยๆ ก็ช่วงสิบปีหลังมานี้ที่มีข่าวศิลปินหรือบุคคลมีชื่อเสียงเสียชีวิตด้วยโรคซึมเศร้า แต่จริงๆ แล้วมีการศึกษาค้นคว้าเรื่องโรคซึมเศร้ามาตั้งแต่หลายร้อยปีก่อน ชื่อโรคก็บ่งบอกอาการเบื้องต้นได้ว่าทั้ง “ซึม” และ “เศร้า” ฟังดูเหมือนเป็นอารมณ์ความรู้สึกธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ในโรคซึมเศร้านั้นต่างออกไปเพราะภาวะซึมเศร้านี้ไม่ได้หายไปง่ายๆ แต่เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่คงอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง คล้ายกับป่วยเป็นโรคอื่นๆ ที่ต้องใช้เวลาในการรักษา ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันด้วย
พญ. ชัชชญา เพียรจงกล จิตแพทย์ทั่วไปจากแอปพลิเคชันอูก้าได้อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “โรค” เป็นคำที่บ่งบอกว่าเป็นความผิดปกติทางการแพทย์ ส่งผลให้สารสื่อประสาทในสมองเปลี่ยนแปลงไป ทำให้อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม ไปจนถึงความจำของเราทำงานผิดปกติ ส่งผลกระทบกิจวัตรประจำวัน ทำอะไรต่างๆ ได้ไม่ดีเท่าเดิม ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อได้ และเมื่อเราเป็นโรคใดโรคหนึ่งก็ควรที่จะได้รับการดูแลรักษาเพื่อให้ทุเลาลง ซึ่งโรคซึมเศร้านั้นต่างจากความเศร้าทั่วไปที่หายดีด้วยตัวเองได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่เป็นจิตใจอ่อนแอ ไม่รู้จักสู้ แต่เขากำลังเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา บางคนมีอารมณ์เศร้าจนถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ ดังนั้นต้องหมั่นสังเกตอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นให้ขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ จิตแพทย์เพื่อปรึกษา ประเมินและวินิจฉัย
3 ปัจจัยหลัก โรคซึมเศร้าเกิดจากอะไร?
โรคซึมเศร้าเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน หลักๆ มีอยู่ 3 ด้าน คือ
- กรรมพันธุ์ หากผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามีพ่อแม่ หรือบุคคลในครอบครัวเคยมีประวัติทางจิตเวชก็มีแนวโน้มหรือความเสี่ยงมากกว่าบุคคลทั่วไป แต่ไม่ใช่ทุกกรณี
- สารเคมีในสมอง โรคซึมเศร้าถือเป็นโรคที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ พบว่าสารเคมีในสมองของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าแตกต่างจากคนทั่วไปอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่นสารเซโรโทนิน (serotonin) ที่เป็นสารสื่อประสาท ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมอารมณ์และความรู้สึก ส่งผลต่อความหิว ความง่วง ช่วยให้เรานอนหลับได้ดี เมื่อสารเซโรโทนินลดต่ำลงก็จะส่งผลต่อความรู้สึกในแง่ลบ ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีระดับเซโรโทนินน้อยกว่าคนปกติ
- ปัจจัยแวดล้อม หลายคนอาจเกิดจากปัจจัยรอบตัวที่มากระตุ้น เหตุการณ์ในชีวิตที่กระทบจิตใจอย่างรุนแรง เช่น ถูกครอบครัวทอดทิ้ง ตกงาน หย่าร้าง ฯลฯ เมื่อประกอบกับลักษณะนิสัยพื้นฐานที่มองโลกในแง่ลบ ชอบโทษตัวเอง คิดมาก ขาดความมั่นใจหรือไม่มีใครให้พึ่งพิง เมื่อเจอปัญหาแล้วไม่สามารถปรับความคิด ปรับการใช้ชีวิตได้ก็มีส่วนทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น
สัญญาณบ่งบอกอาการของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า?
ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคืออารมณ์ความรู้สึก ความคิดที่เป็นไปในแง่ลบ ไปจนถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมือนเดิม ลักษณะคือมีอารมณ์เศร้าเบื่อตลอดทั้งวัน เป็นระยะเวลาติดต่อกันเกินสองสัปดาห์ มีความคิดลบมากขึ้น ส่วนใหญ่หากตรวจพบแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษา พบว่ากว่า 80-90% ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีสาเหตุมาจากสิ่งรอบตัว ความเครียด ความกดดัน ส่วนใหญ่ต้องรับประทานยา ในบางกรณีพันธุกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ถ่ายทอดโรคนี้ แต่พบได้น้อยมาก โรคทางจิตเวชมีปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เราอาจรู้สึกหายขาดอยู่ช่วงเวลานึง แต่อาการก็อาจจะกลับมาได้ตลอดถ้ามีอะไรเข้ามากระทบ เพราะฉะนั้นเราต้องดูแลตัวเอง หมั่นสังเกต อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรมและคนรอบข้างก็อาจจะคอยช่วยเหลือด้วย
เกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าเบื้องต้นที่เราสามารถสังเกตตัวเองได้ คือ เราต้องมีอาการดังต่อไปนี้ 5 ข้อหรือมากกว่า ทั้งนี้เราไม่ควรวินิจฉัยโรคด้วยตนเอง ไม่ว่าโรคทางกายหรือใจใดๆ ก็ตาม หากสงสัยว่าตัวเองหรือคนรอบตัวเข้าข่ายโรคซึมเศร้าควรพบแพทย์เพื่อทำการประเมินอย่างถูกต้อง
- มีอารมณ์ซึมเศร้าตลอดเวลา (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดร่วมด้วย)
- ความสนใจหรือความสนุกในการทำกิจกรรมต่างๆ ลดลงอย่างมาก
- น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารผิดปกติ
- นอนไม่หลับ หรืออาจจะหลับมากไป
- กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
- อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง (low energy)
รู้สึกตนเองไร้ค่า - ไม่ค่อยมีสมาธิ ใจลอย ไม่สามารถจดจ่อได้ หรือรู้สึกลังเล ตัดสินใจได้ยาก
- มีความคิดเรื่องการตาย อยากทำร้ายตัวเองหรืออยากตาย
จากอาการที่กล่าวมาต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ และอาการเหล่านี้ต่อเป็นติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่ใช่อาการที่เป็น ๆ หาย ๆ หากยังมีบางวันที่รู้สึกมีความสุข สนุกสนานอาจจะไม่ใช่โรคซึมเศร้า แต่ไม่ว่าจะเครียดหรือทุกข์ใจเรื่องอะไรก็ตาม ทุกคนสามารถพูดคุยปรึกษากับนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ได้เช่นกัน
https://ooca.co/blog/depression/