http://www.consumerprotection.or.th
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 สิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภค  เกี่ยวกับสมาคม  ผลการดำเนินงาน  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อออนไลน์
การใช้ยาอย่างสมเหตุผล
สาระน่ารู้เกี่ยวกับผู้บริโภค
ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ด้านบริการทางการแพทย์
ด้านอสังหาริมทรัพย์
ด้านอื่น ๆ
บทความ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง




 

เลิกบุหรี่ด้วยการแพทย์แผนไทย

เลิกบุหรี่ด้วยการแพทย์แผนไทย ใคร ๆ ก็ทำได้

สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลว่า “การสูบบุหรี่นับเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ นอกจากควันจากบุหรี่ที่ส่งผลให้เกิดโรคปอด ถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอดแล้ว สารนิโคตินในบุหรี่ยังส่งผลต่อระบบการทำงานและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบการไหลเวียนโลหิต ระบบสืบพันธุ์(๑,๒) ซึ่งสารเคมีในบุหรี่และควันบุหรี่จะไปกระตุ้นการทำงานของธาตุไฟในร่างกายให้เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อธาตุลมเพิ่มขึ้น ทำให้มีอาการไอ หอบเหนื่อย และลดการทำงานของธาตุน้ำ ทำให้มีอาการปากแห้ง คอแห้ง ผิวแห้ง กระหายน้ำ ท้องผูก นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อธาตุดินทำให้ฟันเหลือง ปอดและลำไส้ผิดปกติ”

แนะนำการดูแลสุขภาพด้วยหลักธรรมานามัย สำหรับผู้ที่กำลังจะเลิกสูบบุหรี่ ดังต่อไปนี้

เลิกบุหรี่ด้วยหลักกายานามัย 

                    คือการดูแลอนามัยของร่างกายโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การวิ่ง การเดิน หรือว่ายน้ำ ที่จะต้องเหมาะสมกับวัยของแต่ละคน เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด และเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้น้อยที่สุด โดยผลการวิจัยพบว่าการลดการสูบบุหรี่ร่วมกับการออกกำลังกาย จะมีประสิทธิภาพมากกว่าการลดบุหรี่เพียงอย่างเดียว(๓) ซึ่งอาจใช้การทำท่ากายบริหารฤๅษีดัดตน เพื่อยืดกล้ามเนื้อบริเวณทรวงอก บ่า และหลัง ได้แก่ ท่าแก้แน่นหน้าอก นอกจากนี้ยังมีท่ากายบริหารฤๅษีดัดตนท่าอื่น ๆ อีกด้วย

เลิกบุหรี่ด้วยหลักจิตตานามัย 

                    คือการดูแลอนามัยของจิต การเลิกบุหรี่อาจทำให้เกิดความเครียด เนื่องจากร่างกายมีการเสพติดสารนิโคติน ดังนั้นควรทำจิตใจให้สงบด้วยการฝึกสมาธิ ปฏิบัติตามหลักศาสนา หรือแนวทางที่ตนยึดถือ เพื่อสร้างพื้นฐานจิตใจให้มั่นคง ไม่กวัดแกว่งต่อกิเลสใด ๆ และยังช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด และมีจิตใจที่เข้มแข็งในการเลิกบุหรี่มากขึ้นอีกด้วย รวมถึงการพัฒนาจิตใจควบคู่ไปกับการทำกายบริหารฤๅษีดัดตนยังช่วยในการฝึกสมาธิ และทำให้จิตใจสงบ(๔)

เลิกบุหรี่ด้วยหลักชีวิตานามัย 

                    คือการดูแลอนามัยในการใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆ ทั้งด้านการจัดการอาหารการกินให้ถูกต้อง ทำความสะอาดที่พักอาศัยให้เรียบร้อย ใกล้ชิดธรรมชาติ หลีกเลี่ยงมลภาวะ โดยสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ นอกจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์แล้ว ยังแนะนำให้รับประทานอาหารหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเพื่อทำให้ชุ่มคอ เช่น มะนาว มะขามป้อม หรืออมดอกกานพลู ๒-๓ ดอก จะทำให้ชาปากเล็กน้อยเป็นการช่วยลดความอยากบุหรี่(๕) ซึ่งในปัจจุบันมีในรูปแบบของยาอมสมุนไพรรสกานพลู และยังมีสมุนไพรที่ช่วยในการลดความอยากบุหรี่ได้ซึ่งอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ(๖) คือ หญ้าดอกขาว (Cyanthillium cinereum (L.) H. Rob.)(๗)

โดยวิธีการรับประทานหญ้าดอกขาวเพื่อลดความอยากบุหรี่ มีดังนี้

                    วิธีที่ ๑ นำหญ้าดอกขาวแห้งทั้งต้น จำนวน ๒-๓ ต้น (๓-๕ กรัม) เติมน้ำให้ท่วม ต้มจนเดือด จากนั้นกรองเอาแต่น้ำ ดื่มครั้งละ ๑๒๕ มิลลิลิตร หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น หรือจิบเมื่อมีความอยากบุหรี่

                    วิธีที่ ๒ นำหญ้าดอกขาวผง ๒ กรัม ละลายน้ำร้อน ๑๒๐-๒๐๐ มิลลิลิตร ดื่มหลังอาหารวันละ ๓-๔ ครั้ง ในปัจจุบันนี้ มีผลิตในรูปแบบยาชงสมุนไพร โดยรับประทานครั้งละ ๒ ซองชา (๒ กรัม)

                    ข้อควรระวัง : หญ้าดอกขาวมีโพแทสเซียมสูง สำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ หรือโรคไต ไม่ควรรับประทาน แนะนำให้หาทางเลือกอื่นในการช่วยเลิกบุหรี่ และอาจมีผลข้างเคียงทำให้มีอาการปากแห้ง คอแห้งได้(๖) แนะนำให้จิบน้ำตามเมื่อมีอาการดังกล่าว

                    การเลิกบุหรี่จะประสบผลสำเร็จได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดในการเลิกบุหรี่คือความมุ่งมั่นตั้งใจของแต่ละบุคคลโดยเลือกวิธีการที่เหมาะสมมาปรับใช้ในการเลิกบุหรี่ หากมีความสนใจที่จะใช้สมุนไพรในการช่วยลดความอยากบุหรี่ สามารถรับคำปรึกษาได้ที่คลินิกอายุรเวท แพทย์แผนไทยประยุกต์ โรงพยาบาลศิริราช

เอกสารอ้างอิง

๑. National Digestive Diseases Information Clearinghouse. Smoking and the Digestive System. NIH Publication 2013;13-949. ๒. Neal LB. Nicotine addiction. N Engl J Med  2010;362:2295-2303. ๓. พิรุณพร ประเสริฐ. ผลของโปรแกรมการให้คำปรึกษาและส่งเสริมการเดินออกกำลังกายต่อพฤติกรรมการเลิกบุหรี่ของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; ๒๕๕๗. ๔. โรงเรียนอายุรเวทธำรง สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. กายบริหารฤๅษีดัดตน เล่มที่ ๑. กรุงเทพฯ: ศุภวนิชการพิมพ์; ๒๕๕๔. หน้า ๖, ๗๓-๕. ๕. คลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์และคลินิกฟ้าใส แผนกเวชศาสตร์ครอบครัวและแพทย์บูรณาการ. บอกลาสิงห์อมควัน ลด ละ เลิก บุหรี่ ด้วยสมุนไพรไทย. [อินเทอร์เน็ต]. ๒๕๖๓ [เข้าถึงเมื่อ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๕]. เข้าถึงได้จาก: https://www.gj.mahidol.ac.th/main/ttm/smoke-cess/ ๖. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๔. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๓๘, ตอนพิเศษ ๑๖๕ ง. (ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔) ๗. The plant list. Cyanthillium cinereum (L.) H.Rob. [internet]. 2012 [cited 2022 Mar 20]. Available from: http://www.theplantlist.org/tpl1.1/record/gcc-149577.

สามารถติดตามบทความและข้อมูลอ้างอิงต่อได้ที่…https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1505

https://www.thaihealth.or.th/%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%9a%e0%b8%b8%e0%b8%ab%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%94%e0%b9%89%e0%b8%a7%e0%b8%a2%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%9e%e0%b8%97%e0%b8%a2%e0%b9%8c/


 
Menu
หน้าแรก
เครือข่ายผู้บริโภค
ศูนย์ราชการสะดวก
สื่อวิทยุสมาคม
ข่าวสาร
สรุปกิจกรรม 2565
สรุปกิจกรรม 2564
สรุปกิจกรรม 2563
สรุปกิจกรรม 2562
สรุปกิจกรรม 2561
สรุปกิจกรรม 2560
สรุปกิจกรรม 2559
สรุปกิจกรรม 2558
สรุปกิจกรรม 2557
สรุปกิจกรรม 2556
สรุปกิจกรรม 2555
สรุปกิจกรรม 2554
สรุปกิจกรรม 2553
การร้องเรียน
ติดต่อเรา
แผนผังเว็บไซต์
สถิติเรื่องร้องเรียน
สมัครสมาชิก
เว็บบอร์ด
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 09/12/2010
ปรับปรุง 02/06/2023
สถิติผู้เข้าชม1,614,073
Page Views1,859,643
« June 2023»
SMTWTFS
    123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
view