http://www.consumerprotection.or.th
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 สิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภค  เกี่ยวกับสมาคม  ผลการดำเนินงาน  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อออนไลน์
การใช้ยาอย่างสมเหตุผล
สาระน่ารู้เกี่ยวกับผู้บริโภค
ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ด้านบริการทางการแพทย์
ด้านอสังหาริมทรัพย์
ด้านอื่น ๆ
บทความ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง




 

โรคฮีโมฟีเลีย Hemoplilia

โรคฮีโมฟีเลีย Hemoplilia เลือดออกง่าย หยุดยาก


          ในคนปกติเมื่อเกิดอุบัติเหตุแขนขาถลอก หรือมีดบาดเพียงเล็กน้อยยังรู้สึกเจ็บปวด ยิ่งหากมีเลือดไหลออกมาด้วยก็ยิ่งเพิ่มความเจ็บปวดขึ้นไปอีก แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องทรมานกับอาการที่เรียกว่า โรคเลือดออกง่ายหยุดยาก หรือ โรคฮีโมฟีเลีย ( Hemoplilia ) ซึ่งหากผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอุบัติเหตุ หรือมีบาดแผลเกิดขึ้น พวกเขาไม่เพียงแต่จะเจ็บปวดมากกว่าคนปกติ แต่ทุกวินาทีที่มีเลือดไหลสำหรับผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียแล้ว นั่นอาจหมายถึง ความเป็นความตายของชีวิตเลยทีเดียว
   
          ข้อมูลจาก ศ.พญ.อำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยโลหิตวิทยาและโรคมะเร็งในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า โรคฮีโมฟีเลีย เป็นโรคที่เป็นแต่กำเนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากแม่สู่ลูกชาย แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่า ร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียไม่เคยมีประวัติโรคนี้ในครอบครัวมาก่อน
   
          เมื่อไม่นานมานี้ภายในงานประชุมวิชาการแพทย์โรคเลือดออกง่ายหยุดยาก (ฮีโมฟีเลีย) ทั่วประเทศประจำปี 2009 "Thailand Hemophilia Treater’s Conference 2009" ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้และยกระดับการรักษาผู้ป่วยในประเทศไทยให้เทียบเท่าระดับสากล โดยมีแพทย์โรคฮีโมฟีเลียจากทั่วประเทศเข้าร่วมงาน ณ บ้านอัมพวารีสอร์ท จ.สมุทรสงคราม ได้มีการพูดคุยถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางโมเลกุลของผู้ป่วย ฮีโมฟีเลีย ในประเทศไทยเป็นอย่างไร

          เนื่องจากผู้ป่วย โรคฮีโมฟีเลีย ในแต่ละประเทศมีการเปลี่ยนแปลงทางโมเลกุลที่เรียกว่าดีเอ็นเอ สารกำหนดพันธุกรรมของคนในแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงได้มีการศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งพบว่า ร้อยละ 40 ของผู้ป่วย โรคฮีโมฟีเลียเอชนิดรุนแรง เกิดจากการที่สารพันธุกรรมมีการตีลังกากันกลับหัวท้ายกัน หรือมีการกลายพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันวิทยาการก้าวหน้าสามารถตรวจพบตรงนี้ได้แล้ว และยังตรวจพบความผิดปกติของสารพันธุกรรมในผู้ป่วย โรคฮีโมฟีเลีย เพื่อให้การวินิจฉัยหญิงที่มียีนโรคฮีโมฟีเลียแฝง จากครอบครัวผู้ป่วย และให้คำแนะนำปรึกษาทางพันธุกรรมไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่ในครอบครัวนั้นๆ อีกต่อไป
    
          อาการของ โรคฮีโมฟีเลีย คือ จะเป็นจ้ำเขียว และมีอาการเลือดออกภายในข้อต่างๆ ของร่างกาย เมื่อเริ่มมีอาการผู้ป่วยจะมีอาการปวดตึงขัดบริเวณกล้ามเนื้อและข้อ อาการจะรุนแรงมากขึ้น มีข้อติด กล้ามเนื้อลีบ หรือเกิดภาวะข้อพิการได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม 

         สาเหตุของ โรคฮีโมฟีเลีย เกิดจากภาวะขาดปัจจัยการแข็งตัวของเลือดที่เรียกว่าแฟคเตอร์ 8 หรือ แฟคเตอร์ 9 มาแต่กำเนิด ดังนั้นการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ต้องให้แฟคเตอร์เข้มข้นทดแทนปัจจัยการแข็งตัวของเลือดที่ผู้ป่วยขาดไป ซึ่งแฟคเตอร์เข้มข้นที่ใช้ฉีดให้ผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ เป็นแฟคเตอร์เข้มข้นที่สกัดจากพลาสมาของผู้บริจาคเลือดและผ่านกระบวนการทำลายเชื้อโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคเอดส์ โรคตับอักเสบ ซึ่งมีความปลอดภัยสูง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดสรรเงินงบประมาณ ปีละ 9,000 บาท/ราย สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี และ 120,000 บาท/ราย

          สำหรับเด็กอายุมากกว่า 10 ปี หรือผู้ใหญ่ เพื่อให้โรงพยาบาลจัดซื้อแฟคเตอร์เข้มข้นรักษาเมื่อเริ่มมีอาการเลือดออกที่บ้านหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน สำหรับผู้ป่วย โรคฮีโมฟีเลีย ทุกรายที่ลงทะเบียนที่หน่วยบริการรับการส่งต่อเฉพาะ โรคฮีโมฟีเลีย ในโรงพยาบาล 38 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549
   
          ภายในงานประชุมวิชาการดังกล่าว ยังได้มีการนำเสนอยาแฟคเตอร์เข้มข้นตัวใหม่ ซึ่งเป็นแฟคเตอร์เข้มข้นที่ใช้อยู่ในต่างประเทศ โดย ดร.บิล แมคเวิร์ทเธอร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาจากประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า แฟคเตอร์เข้มข้นแบบใหม่นี้ ผลิตจากกระบวนการพันธุวิศวกรรม หรือรีคอมบิแนนท์ (Recombinant) ทำให้มีความปลอดภัยสูง ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อหรือสารโปรตีนที่เรียกว่าไพรออน (prion) จากเลือดของผู้บริจาค ซึ่งได้มีผลการทดลองและวิจัยรับรองถึงประสิทธิภาพ มีใช้ในต่างประเทศมากว่า 20 ปีแล้ว อาทิ อังกฤษ แคนาดา ออสเตร เลีย และญี่ปุ่น เป็นต้น แต่มีราคาแพงมาก
   
          นอกจากนี้ในที่ประชุมดังกล่าว ยังได้ถกถึงปัญหาการเกิดภาวะสารต้านแฟคเตอร์ในผู้ป่วยฮีโมฟีเลียบางราย ซึ่งทำให้การรักษายุ่งยากขึ้น โดย รศ.นพ.พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า การเกิดภาวะมีสารต้านแฟคเตอร์นี้ จะพบประมาณร้อยละ 20-30 ในผู้ป่วยฮีโมฟีเลียชนิดรุนแรงมาก และมักจะเกิดกับผู้ป่วยที่ได้รับแฟคเตอร์ในช่วง 50 ครั้งแรก โดยผู้ป่วยจะไม่ตอบสนองต่อแฟคเตอร์เข้มข้นที่ได้รับ เนื่องจากร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานแฟคเตอร์ขึ้น ทำให้เลือดไม่หยุดไหล ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง หากได้รับการรักษาไม่ถูกต้องและอย่างทันท่วงที ซึ่งในกรณีนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาแฟคเตอร์เข้มข้นชนิดพิเศษในการเร่งการแข็งตัวของเลือดเพื่อช่วยให้เลือดหยุดไหล
       
          ดังนั้นผู้ป่วยและครอบครัวควรใส่ใจและสังเกตอาการอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าเมื่อฉีดแฟคเตอร์เข้มข้นเข้าไปแล้ว แต่เลือดยังไม่หยุดไหลเหมือนที่ผ่านมา ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็กหาภาวะการเกิดสารต้านแฟคเตอร์และได้รับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป ซึ่งปัจจัยการเกิดสารต้านแฟคเตอร์นั้นขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ ประวัติครอบครัว ยีนที่ผิดปกติของ ผู้ป่วยแต่ละราย และปริมาณแฟคเตอร์ที่ผู้ป่วยได้รับ ผู้ป่วยจึงควรระมัดระวังตนเองไม่ให้ได้รับความกระทบกระเทือนรุนแรง ถึงขั้นต้องให้แฟคเตอร์ ในปริมาณมากและเป็นเวลานานติดต่อกัน เช่น การผ่าตัด อย่างไรก็ดี โดยปกติแพทย์จะตรวจร่างกาย และเจาะเลือดผู้ป่วยเพื่อติดตามภาวะการเกิดสารต้านแฟคเตอร์ทุกๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อให้การรักษาและกำจัดตัวต้านแฟคเตอร์ตั้งแต่เริ่มต้น

 ที่มา : http://health.kapook.com/view2595.html

 
Menu
หน้าแรก
เครือข่ายผู้บริโภค
ศูนย์ราชการสะดวก
สื่อวิทยุสมาคม
ข่าวสาร
สรุปกิจกรรม 2566
สรุปกิจกรรม 2565
สรุปกิจกรรม 2564
สรุปกิจกรรม 2563
สรุปกิจกรรม 2561
สรุปกิจกรรม 2560
สรุปกิจกรรม 2559
สรุปกิจกรรม 2558
สรุปกิจกรรม 2557
สรุปกิจกรรม 2556
สรุปกิจกรรม 2555
สรุปกิจกรรม 2554
สรุปกิจกรรม 2553
สรุปกิจกรรม 2562
การร้องเรียน
ติดต่อเรา
แผนผังเว็บไซต์
สถิติเรื่องร้องเรียน
สมัครสมาชิก
เว็บบอร์ด
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 09/12/2010
ปรับปรุง 10/03/2024
สถิติผู้เข้าชม1,738,246
Page Views2,003,162
« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
view