http://www.consumerprotection.or.th
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 สิทธิและหน้าที่ของผู้บริโภค  เกี่ยวกับสมาคม  ผลการดำเนินงาน  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   
การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อออนไลน์
การใช้ยาอย่างสมเหตุผล
สาระน่ารู้เกี่ยวกับผู้บริโภค
ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ด้านบริการทางการแพทย์
ด้านอสังหาริมทรัพย์
ด้านอื่น ๆ
บทความ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง




 

โรคแพนิค (Panic Disorder)

โรคแพนิค (Panic Disorder) (infomental)
โดย : ผศ.นพ.สเปญ อุ่นอนงค์

         โรคแพนิค เป็นโรคชนิดหนึ่งที่มีคนเป็นกันมากและเป็นกันมานานแล้ว แต่ประชาชนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้จักและยังไม่มีชื่อโรคอย่างเป็นทางการในภาษาไทย บางคนอาจเรียกโรคนี้ว่า "หัวใจอ่อน" หรือ " ประสาทลงหัวใจ" แต่จริงๆ แล้วโรคนี้ไม่มีปัญหาอะไรที่หัวใจ และ ไม่มีอันตราย เวลามีอาการผู้ป่วย จะรู้สึกใจสั่นหัวใจเต้นแรง อึดอัด แน่นหน้าอก หายใจไม่ทัน หรือหายไม่เต็มอิ่ม ขาสั่น มือสั่น มือเย็น บางคนจะมีอาการวิงเวียนหรือมึนศีรษะ ท้องไส้ปั่นป่วน ขณะมีอาการผู้ป่วยมักจะรู้สึกกลัวด้วย 

         โดยที่ส่วนใหญ่ผู้ป่วย โรคแพนิค จะกลัวว่าตัวเองกำลังจะตาย กลัวเป็นโรคหัวใจ บางคนกลัวว่าตนกำลังจะเสียสติหรือเป็นบ้า  อาการต่าง ๆ มักเกิดขึ้นทันทีและค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนเต็มที่ในเวลาประมาณ 10 นาที คงอยู่สักระยะหนึ่ง แล้วค่อย ๆ ทุเลาลง อาการมักจะหายหรือเกือบหายในเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง หลังจากอาการแพนิคหายผู้ป่วยมักจะเพลีย และในช่วงที่ไม่มีอาการผู้ป่วยมักจะกังวลกลัวว่าจะเป็นอีก

         อาการ โรคแพนิค จะเกิดที่ไหนเมื่อไรก็ได้และคาดเดาได้ยาก แต่ผู้ป่วยมักพยายามสังเกตุ และเชื่อมโยงหาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เพื่อที่ตนจะได้หลีกเลี่ยง และรู้สึกว่าสามารถควบคุมมันได้บ้าง เช่น ผู้ป่วยบางราย ไปเกิดอาการขณะขับรถก็จะไม่กล้าขับรถ บางรายเกิดอาการขณะกำลังเดินข้ามสะพานลอยก็จะไม่กล้าขึ้นสะพานลอย ผู้ป่วยบางรายไม่กล้าไปไหนคนเดียว หรือไม่กล้าอยู่คนเดียว เพราะกลัวว่าถ้าเกิดอาการขึ้นมาอีกจะไม่มีใครช่วย ในบางรายอาจมีเหตุกระตุ้นจริงๆบางอย่างได้ เช่น การออกกำลังหนัก ๆ หรือเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำโคล่า ในกรณีแบบนี้ควรหลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้

         ขณะเกิดอาการ ผู้ป่วย โรคแพนิค มักกลัวและรีบไปโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินมักตรวจไม่พบความผิดปกติ และมักได้รับการสรุปว่าเป็นอาการเครียดหรือคิดมาก ซึ่งผู้ป่วยก็มักยอมรับไม่ได้และปฏิเสธว่าไม่ได้เครียด เมื่อเกิดอาการอีกในครั้งต่อมา ผู้ป่วยก็จะไปโรงพยาบาลอื่นและมักได้คำตอบแบบเดียวกัน ผู้ป่วย โรคแพนิค หลาย ๆ รายไปปรึกษาแพทย์เพื่อเช็คสุขภาพ โดยเฉพาะหัวใจซึ่งก็มักได้รับการตรวจเช็คร่างกายอย่างละเอียด และไม่พบความผิดปกติอะไรที่สามารถอธิบายอาการดังกล่าวได้

         ซึ่งก็ยิ่งทำให้ผู้ป่วยกังวลมากขึ้นไปอีก อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเรียกว่า อาการแพนิค (panic attack) ซึ่งแปลว่า "ตื่นตระหนก" เราจะสังเกตุได้ว่าอาการต่าง ๆ จะคล้ายกับอาการของคนที่กำลังตื่นตระหนก ใน โรคแพนิค ผู้ป่วยจะเกิดอาการแพนิคนี้ขึ้นมาเอง โดยไม่มีเหตุกระตุ้น และคาดเดาไม่ถูกว่าเมื่อไรจะเป็นเมื่อไรจะไม่เป็น การไม่รู้ว่าตนกำลังเป็นอะไรจะยิ่งเพิ่มความตื่นตระหนกให้รุนแรงขึ้น

          อาการแพนิค ไม่มีอันตราย อาการนี้ทำให้เกิดความไม่สบายเท่านั้นแต่ ไม่มีอันตราย สังเกตุได้จากการที่ผู้ป่วยมักจะ มีอาการมานาน บางคนเป็นมาหลายปี เกิดอาการแพนิคมาเป็นร้อยครั้ง แต่ก็ไม่เห็นเป็นอะไรสักที บางคนเป็นทีไรต้องรีบไปโรงพยาบาล "แทบไม่ทัน" แต่ไม่ว่ารถจะติดอย่างไรก็ไป "ทัน" ทุกครั้งเพราะอาการ แพนิค ไม่มีอันตราย

         ในปัจจุบันเราพอจะทราบว่าผู้ป่วย โรคแพนิค มีปัญหาในการทำงานของสมองส่วนที่ทำให้เกิดอาการ “ตื่นตระหนก” โดยเป็น ความผิดปกติของสารสื่อนำประสาท บางอย่างเราจึงสามารถรักษาโรคนี้ได้ด้วยยา ยาที่ใช้รักษา โรคแพนิค จะมี 2 กลุ่ม คือ
         
         1. ยาป้องกัน เป็นยาที่ออกฤทธิ์ช้า ปรับยาครั้งหนึ่งต้องรอ 2-3 สัปดาห์ จึงจะเริ่มเห็นผลคืออาการแพนิคจะห่างลง และเมื่อเป็นขึ้นมาอาการก็จะเบาลงด้วย เมื่อยาออกฤทธิ์เต็มที่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแพนิคเกิดขึ้นเลย ยากลุ่มนี้จะเป็นยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าบางตัว เช่น เล็กซาโปร (lexapro) โปรแซก (prozac) โซลอฟ (zoloft) ยากลุ่มนี้ไม่ทำให้เกิดการติดยาและสามารถหยุดยาได้เมื่อโรคหาย ในการรักษาด้วยยาเราจะจ่ายทั้งยาป้องกันและยาแก้ 

         เพราะในช่วงแรก ๆ ยาป้องกันยังออกฤทธิ์ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยจะยังมีอาการจึงยังต้องใช้ยาแก้อยู่ เมื่อยาป้องกันเริ่มออกฤทธิ์ผู้ป่วยจะกินยาแก้น้อยลงเอง แพทย์จะค่อยๆเพิ่มยาป้องกันจนผู้ป่วย "หายสนิท" คือไม่มีอาการเลย แล้วให้ผู้ป่วยรับประทานยาต่อไปเป็นเวลา 8-12 เดือน หลังจากนั้นจะให้ผู้ป่วยค่อยๆ หยุดยา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถหยุดยาได้โดยไม่มีอาการกลับมาอีก แต่ก็มีบางรายที่มีอาการอีกเมื่อลดยาลง ในกรณีแบบนี้เราจะเพิ่มยากลับขึ้นไปใหม่แล้วค่อย ๆ ลดยาลงช้า ๆ

        2. ยาแก้ เป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว ใช้เฉพาะเมื่อเกิดอาการขึ้นมา เป็นทีกินที กินแล้วหายเร็ว ได้แก่ยาที่คนทั่วไปรู้จักกันในนามของยา “กล่อมประสาท” หรือยา “คลายกังวล” เช่น แวเลี่ยม (valium) แซแนก (xanax) อะติแวน (ativan) ยาประเภทนี้มีความปลอดภัยสูง (แปลว่าไม่มีพิษ ไม่ทำลายตับ ไม่ทำลายไต) แต่ถ้ารับประทาน ติดต่อกันนานๆ (2-3 สัปดาห์ขึ้นไป) จะเกิดการติดยาและเลิกยากและเมื่อหยุดยากระทันหันจะเกิดอาการขาดยา ซึ่งจะมีอาการเหมือนอาการแพนิค ทำให้แยกแยะไม่ได้ว่าหายหรือยัง ดังนั้นแพทย์จะเน้นกับผู้ป่วยว่าให้กินเฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น ยังไม่เป็นห้ามกิน รอให้เริ่มมีอาการแล้วค่อยกินก็ทันเพราะมันออกฤทธิ์เร็ว

 ที่มา : http://health.kapook.com/view3147.html

 
Menu
หน้าแรก
เครือข่ายผู้บริโภค
ศูนย์ราชการสะดวก
สื่อวิทยุสมาคม
ข่าวสาร
สรุปกิจกรรม 2566
สรุปกิจกรรม 2565
สรุปกิจกรรม 2564
สรุปกิจกรรม 2563
สรุปกิจกรรม 2561
สรุปกิจกรรม 2560
สรุปกิจกรรม 2559
สรุปกิจกรรม 2558
สรุปกิจกรรม 2557
สรุปกิจกรรม 2556
สรุปกิจกรรม 2555
สรุปกิจกรรม 2554
สรุปกิจกรรม 2553
สรุปกิจกรรม 2562
การร้องเรียน
ติดต่อเรา
แผนผังเว็บไซต์
สถิติเรื่องร้องเรียน
สมัครสมาชิก
เว็บบอร์ด
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 09/12/2010
ปรับปรุง 17/04/2024
สถิติผู้เข้าชม1,740,112
Page Views2,005,218
« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
view